โคราชเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่-ยอดป่วยโควิดสะสมทะลุเกือบ 3 หมื่นราย(มีคลิป)

โคราชเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่-ยอดป่วยโควิดสะสมทะลุเกือบ 3 หมื่นราย(มีคลิป)





ad1

นครราชสีมา-ยอดผู้ป่วยโควิดเมืองโคราชสะสมเกือบ 3 หมื่นรายแล้ว เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะที่โรงเรียนที่จะเปิดเรียน On Site  1 พ.ย.นี้  สธ.ย้ำต้องตรวจ ATK บุคลากรและนักเรียนทุกคน 100 %  

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ของจังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 89 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อกันเองในพื้นที่จังหวัด 87 รายและติดเชื้อมาจากนอกจังหวัด 2 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวมอยู่ที่ 29,985 ราย โดยรักษาหายแล้ว 27,890 ราย ยังรักษาอยู่ 1,870 ราย มีรายงานเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยโควิด เพศหญิง อายุ 63 ปีชาว ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด 19 แล้วตรวจพบว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 เข้ารับการรักษาที่ รพ.พิมาย ก่อนจะส่งรักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา จนมาเสียชีวิตลงเมื่อวานนี้(30 ตุลาคม 2564)  เวลา 05.18 น. ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 225 ราย

ทั้งนี้ ทางจังหวัดฯ ยังระดมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,152,381 ราย สามารถฉีดเข็ม 1 ไปได้แล้ว 1,228,298 ราย หรือ 57.07% ของเป้าหมาย , เข็ม 2 ฉีดได้959,627 ราย หรือ 44.58 % ,เข็ม 3 ฉีดได้ 51,175 ราย หรือ 2.38%  รวมฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายนี้ไปแล้ว 2,239,100 โดส   ส่วนกลุ่มเป้าหมาย 12-18 ปี จำนวน 147,724 ราย สามารถฉีดเข็ม 1 ได้ 114,640 รายหรือ 75.16% ,เข็ม 2 ฉีดได้ 15,402 ราย หรือ 10.43% รวมฉีดกลุ่มนี้ไปแล้ว 130,042 โดส 

ในส่วนของ รพ.มหาราชนครราชสีมา ได้ประชาสัมพันธ์การให้บริการฉีดวัคซีนต้านโควิด 19 แก่ประชาชนผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค รพ.มหาราชนครราชสีมา โดยวันพรุ่งนี้ (1 พฤศจิกายน 2564) จะให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 1 ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย แก่นักเรียนในโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา และฉีดไฟเซอร์เข็ม 2 ให้กับเด็กอายุ 12-17 ปีด้วย  นอกจากนี้ ยังบริการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 แอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 และฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม เมที่ 1 และ 2 แก่ผู้ที่มีคิวฉีดกับ รพ.มหาราชฯ  แต่จะงดให้บริการฉีดแอสตร้าเซเนก้า เข็ม 3 บูสเตอร์โดส

สำหรับการเปิดเรียนแบบ On Site ในวันพรุ่งนี้ 1 พฤศจิกายน 2564 นั้น นพ.เจษฎ์  บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า  ยังมีโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดฯ ที่ไม่พร้อมเปิดเรียนในห้องเรียน ทั้งจากสาเหตุประสบภัยน้ำท่วม สถานที่ได้รับความเสียหาย อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ฟื้นฟูทำความสะอาด หรือจากการไม่พร้อมเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่สาธารณสุขกำหนด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการฉีดวัคซีนต้านโควิด 19 , เรื่องความไม่มั่นใจของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน ที่เกรงว่าบุตรหลานไปโรงเรียนแล้วจะติดโควิด 19   และเรื่องการตรวจ ATK ให้กับนักเรียนก่อนไปเรียน เป็นต้น 

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ได้สรุปแนวทางการตรวจ ATK เด็กนักเรียนก่อนไปโรงเรียน ไว้ว่า นักเรียนในโรงเรียนที่มีกำหนดเปิดเรียน On Site วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หรือโรงเรียนที่ขอให้สาธารณสุขไปตรวจ ATK ให้เมื่อวันที่ 25 – 27 ตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อที่จะเปิดเรียนตามปกติในชั้นเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน   ในกลุ่มนี้จะต้องตรวจ ATK ให้กับเด็กนักเรียนทุกคน 100 % ไม่ว่าจะเป็นเด็กไป-กลับ หรือเป็นเด็กหอ  และหลังจากนั้น กระทรวงศึกษาการกับกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นโยบายว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจ 100% แต่ให้สุ่มตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง สีแดงเข้ม รวมทั้ง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค