กรมการค้าภายใน ยืนยัน“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”ปรับเพิ่มแค่ราคาขายส่ง ส่วนนมขนหวาน ยังไม่ให้ขึ้นราคา

นมขนหวาน ยังไม่ให้ขึ้นราคา

กรมการค้าภายใน ยืนยัน“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”ปรับเพิ่มแค่ราคาขายส่ง ส่วนนมขนหวาน ยังไม่ให้ขึ้นราคา





ad1

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเตรียมปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นว่า กรมการค้าภายใน ได้หารือกับผู้ผลิตและได้รับการแจ้งว่าเป็นการปรับขึ้นราคาขายส่งที่ส่งให้กับร้านค้า หรือเป็นการลดส่วนลดทางการค้าที่ผู้ผลิตให้กับร้านค้า ไม่มีผลทำให้ราคาขายปลีก ซึ่งเป็นราคาปลายทางสู่ผู้บริโภคปรับขึ้น โดยผู้ผลิตยืนยันว่า จะยังให้ความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ ตรึงราคาขายต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลาย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน 

ส่วนกรณีผู้ผลิตนมสดและนมข้นหวานกระป๋องรายใหญ่ เตรียมปรับขึ้นราคาขายในเดือนมี.ค.-เม.ย.2565  เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะทินเพลต (เหล็กทำกระป๋องบรรจุ) มีราคาสูงขึ้น กรมฯ จะต้องพิจารณาโครงสร้างต้นทุนก่อนว่าเพิ่มจริงหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นจริง เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้

ส่วนสินค้าปุ๋ยเคมี ที่สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทยได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ยกเลิกมาตรการตรึงราคา หลังราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น เพราะผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ย กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ค้ามาโดยตลอด และขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาขาย หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คงต้องพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียด รอบคอบที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

สำหรับสินค้าอื่น ๆ หากจะขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องทำเรื่องมาที่กรมฯ และจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาขาย และยังไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาขาย โดยเฉพาะสินค้าใน 18 กลุ่ม เช่น เนื้อสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปุ๋ยเคมี ยาจำกัดหรือปราบศัตรูพืช และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น  

นายวัฒนศักย์กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือ เพื่อหามาตรการลดผลกระทบให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์ มีหลายข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ที่ปัจจุบันเก็บที่ 2% ลดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดเลี่ยงสัตว์ในประเทศ ที่ปัจจุบันกำหนด 3 ต่อ 1 และขยายเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำหนดเดือนก.พ.-ก.ย.ของทุกปี เป็นต้น 
         
อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาผลดีผลเสียของทุกข้อเสนอ และหากเห็นชอบให้ใช้ข้อเสนอใดแล้ว ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ หรือเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น ข้าวโพด ไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย และหากได้ข้อสรุป ก็จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรแต่ละชนิด รวมถึงคณะกรรมการนโยบายอาหาร พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป