แอมเนสตี้ ยื่นกว่า 4,000 รายชื่อ ถึง รมว.ยุติธรรม เรียกร้องให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการทำกิจกรรมทางการเมือง

แอมเนสตี้ ยื่นกว่า 4,000 รายชื่อ เรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการทำกิจกรรมทางการเมือง

แอมเนสตี้ ยื่นกว่า 4,000 รายชื่อ ถึง รมว.ยุติธรรม เรียกร้องให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการทำกิจกรรมทางการเมือง





ad1

วันนี้ (10 ส.ค.2565) กลุ่มตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และนักจัดกิจกรรม นำรายชื่อจำนวน 4,701 รายชื่อ ซึ่งเป็นรายชื่อจากประชาชนที่สนับสนุนเรียกร้องให้ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหา และคืนสิทธิในการประกันตัว ผู้ต้องขังคดีการทำกิจกรรมทางการเมือง ระหว่างรอการพิจารณาคดี โดยได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด มอบให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นำไปพิจารณาตามข้อเรียกร้อง

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่า มีผู้ต้องขัง 2 คน ประท้วงอดอาหาร เรียกร้องให้ปล่อยตัว ขณะถูกคุมขัง ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. และได้รับการปล่อยตัววันที่ 4 ส.ค. แม้ว่าจะได้รับสิทธิประกันตัว แต่ผลจากการอดอาหารประท้วงกว่า 60 วัน มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งตอนนี้กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้ จึงมองว่า การถูกคุมตัว ระหว่างรอการพิจารณา ส่งผลต่อสิทธิด้านการศึกษา และประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันการกำหนดเงื่อนไข ก็เข้มงวดมากขึ้น เช่น ให้อาศัยอยู่ในบ้าน 24 ชั่วโมง เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

นางปิยนุชกล่าวอีกว่า ในระหว่างปี 2565 ทางการไทยได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมเนื่องจากการเคลื่อนไหวโดยสงบ เจ้าหน้าที่ยังใช้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นกับบุคคลที่เข้าร่วมในกิจกรรม ซึ่งทางการมองว่าเป็นการแสดงความเห็นต่าง รวมทั้งคนที่เป็นเด็ก และมีการใช้มาตรการต่างๆ มากขึ้นเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ และการชุมนุมโดยสงบ และยังได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

ทางแอมเนสตี้ฯ มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้ 1.ปล่อยตัวและ/หรือยกเลิกข้อกล่าวหา และให้ยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิของตนโดยสงบ และให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรม 2.ในระหว่างรอการปล่อยตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนโดยสงบ ให้การประกันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม และ 3.แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในนักจัดกิจกรรมทางการเมือง เห็นด้วยที่ผู้ต้องหาคดีการเมือง ควรได้รับการประกันตัว โดยไม่มีเงื่อนไข หรือตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยมองว่าการออกมาจัดกิจกรรมของนักศึกษา คล้ายเป็นการสำรวจความเห็น โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย จึงไม่ควรถูกดำเนินคดี และพันธนาการด้วยกำไลอีเอ็ม ทั้งที่กระบวนการยุติธรรม ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำผิด และมีความเห็นว่ากระบวนการได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ เกินกว่าหลักนิติธรรม จึงเรียกร้องให้ รมว.ยุติธรรม พิจารณาดำเนินการปรับแก้ข้อกฎหมาย