อดีตลูกจ้างเจเอสแอลฯร้อง'ทนายเดชา'ช่วยปมได้รับเงินชดเชยไม่เป็นธรรม

อดีตลูกจ้างเจเอสแอลฯร้อง'ทนายเดชา'ช่วยปมได้รับเงินชดเชยไม่เป็นธรรม





ad1

กลุ่มอดีตพนักงานเจเอสแอลฯปรึกษาทนายเดชาช่วยเหลือได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม  ชี้นายจ้างเปรียบลูกจ้างจ่ายชดเชย 16% เตรียมร้องสำนักสวัสดิการคุ้มครองแรงงานตามขั้นตอนทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565  อดีตพนักงานบริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จำนวน 37 คน ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เข้าปรึกษาด้านกฎหมายกับ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ ที่สำนักงานทนายความของนายเดชา ย่านรัชดาภิเษก (ซอยเสือใหญ่) จากกรณี เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เจเอสแอลฯ ได้ประกาศปิดตัวโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

ตัวแทนอดีตพนักงาน เปิดเผยว่า บริษัทเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 89 คน ในนั้นมี 10 คน ที่ยินยอมรับเงินชดเชยไปแล้ว ส่วนอีก 79 คน ไม่ยอมรับเงินชดเชย เพราะบริษัทจะจ่ายให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เพียงร้อยละ 16 ของเงินชดเชยทั้งหมดตามกฎหมาย ยอดเงินชดเชยเลิกจ้างที่บริษัทต้องจ่ายให้ รวมเป็นเงินกว่า 31 ล้านบาท แต่บริษัทบอกว่าจะให้เงิน 5 ล้านบาท ให้ไปแบ่งกันเอาเอง เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบ และไม่ปฏิบัติตามกฏหมายแรงงาน

ทั้งที่ที่ผ่านมายอมบริษัททุกอย่าง ไม่ว่าจะลดเงินเดือน หักเงินเบี้ยเลี้ยง หักเงินค่าล่วงเวลา และการแบ่งจ่ายเงินเดือน เพราะเข้าใจว่าเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทประสบปัญหา ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของบริษัท เพื่อให้บริษัทอยู่รอด เพราะถือเป็นบ้านอีกหลังที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่สุดท้ายก็มาถูกเท เลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องกลายเป็นคนตกงานโดยไม่รู้ตัว จึงมาปรึกษากับนายเดชาเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และทวงคืนความยุติธรรม

ขณะที่นายเดชา เปิดเผยว่า การที่บริษัทไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามหลักเกณฑ์ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 กรณีนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดทันที

สำหรับกรณีนี้จะมีผู้เข้าข่ายความผิด 3 กลุ่ม คือ บริษัท กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจในการเลิกจ้าง เบื้องต้นนายเดชาให้คำแนะนำว่า อดีตพนักงาน บริษัท เจเอสแอล ฯควรไปยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อน เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการฟ้องศาลแรงงาน กรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องฟ้องแยกอีกส่วน นายเดชาจะช่วยเหลือทางคดีต่อไป โดยในเวลา 09.00 น.วันที่ 4 ก.ค.65 อดีตพนักงานจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักสวัสดิการคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 4 ด้วย

นายเดชา กล่าวอีกว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างปัจจุบัน ทำให้มีหลายบริษัทต้องเลิกกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์เรียกร้องหรือเอาผิด หากนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คุ้มครองลูกจ้างทุกคนอยู่

สำหรับการออกประกาศเรื่อง “ยุติการทำงานบางส่วน” บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ระบุว่า ได้ดำเนินงานด้านการผลิตสื่อสำหรับโทรทัศน์ การสร้างบุคลากรสำหรับวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง การรับจ้างสร้างสรรค์และผลิตงานสำหรับภาครัฐและเอกชน ติดต่อมาเป็นระยะเวลา 43 ปี ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่ออย่างมาก 

ทั้งการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์จำนวนมาก ทั้งผลกระทบจาก DIGITAL DISRUPTION และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้ตลอดมาบริษัทฯ จะพยายามปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถยืนหยัดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงได้ต่อไป และจะได้สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้ชม แต่ก็ยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายได้ บริษัทฯจึงเห็นสมควรที่จะยุติการดำเนินงานบางส่วนลงนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป.