30 มี.ค.ลุ้นศาลปค.สูงสุดนัดชี้ขาด คดี “บีทีเอส”ฟ้องปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

30 มี.ค.ลุ้นศาลปค.สูงสุดนัดชี้ขาด คดี “บีทีเอส”ฟ้องปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม





ad1

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 สำนักงานศาลปกครองแจ้งว่า ในวันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จากกรณีมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกตามการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3ก.พ.64 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลว. 3 ก.พ. 63 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลว.3ก.พ. 63 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติ และตั้งแต่วันที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีประกาศดังกล่าว

โดยศาลฯให้เหตุผลว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือก และรฟม. ออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนโดยพิจารณาแต่เพียงความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ว่าบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฯ ไม่มีความเสียหายใด ๆ จากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว ทั้งที่อาจเปิดโอกาสให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฯหรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว หรือรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้แก้ไขเพิ่มเติมไว้เป็นการชั่วคราวหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นเสียก่อน หรือรอคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ก่อน ซึ่งการดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะร่วมลงทุน ในความโปร่งใสและตรวจสอบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน

ดังนั้น การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และการที่ รฟม. ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโดยมิได้พิจารณาที่จะดำเนินการดังกล่าว อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า มิได้คำนึงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องและความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะร่วมลงทุนในความโปร่งใส และตรวจสอบได้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน ตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จึงฟังไม่ได้ว่ามติของ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม.ดังกล่าว ออกมาโดยมีเหตุสมควรและมีความจำเป็นเพื่อให้การบังคับใช้ตามมติและประกาศดังกล่าวบรรลุซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์และตามเจตนารมณ์ที่พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 บัญญัติไว้อย่างครบถ้วน อันถือว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด.