ร้องสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง

ร้องสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง





ad1

ศิษย์เก่าฯและคณาจารย์เรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองอย่างเคร่งครัด หยุดสร้างเงื่อนไขหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองจนทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดความเสียหายยาแก่การเยียวยา

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายบรรหาร มณีลาภ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง , รศ.สุมาลี อิงคนาต อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะ ได้ยื่นคำแถลงการณ์ ในนามคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ผู้เกษียณอายุ และศิษย์เก่า ต่อนายวีรพล ตั้งสุวรรณ นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง 

เรื่อง ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัย ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองอย่างเคร่งครัด และหยุดสร้างเงื่อนไขหรือวาทกรรมอื่นใดที่จะเป็นการจงใจ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองโดยมีตัวแทนของนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นตัวแทนรับหนังสือ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


ทั้งนี้ ในหนังสือ คำแถลงการณ์ ระบุว่า โดยที่พวกเราเฝ้าดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาสักระยะหนึ่ง พร้อมกับพยายามปรึกษาสอบถามผู้รู้ด้านกฎหมายและการบริหารงานราชการอย่างกว้างขวาง และพวกเรามีหัวใจที่รักมหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้อย่างเต็มเปี่ยม ย่อมทนไม่ได้ที่จะเห็นปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในการบริหารงาน และที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นเกมส์การเมืองที่มีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อทุกฝ่ายแต่อยากช่วงชิงผลประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เพื่อตนเองและพวกพ้อง เป็นสิ่งที่พวกเรารับไม่ได้อย่างยิ่ง

ดังนั้นจึงออกหนังสือแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยได้รับฟังเสียงอันบริสุทธิ์จากคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ผู้เกษียณอายุและศิษย์เก่า ที่เคยผ่านการเลือกตั้งอธิการบดีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มาแล้ว โดยมีประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้

1.คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ลงวันที่ 13  กุมภาพันธ์ 2566 เป็นคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่สภามหาวิทยาลัยถอดถอนอธิการบดี (หรือที่เรียกกันว่าการคุ้มครองชั่วคราว) มีผลเป็นการให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ กลับมาเป็นอธิการบดีอีกครั้ง จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยมีเหตุผลหลัก ๆ คือ มติและคำสั่งถอดถอนอธิการบดี น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เปิดโอกาสให้อธิการบดีได้ชี้แจง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับการคุ้มครองชั่วคราวในการถอดถอนครั้งที่ 1

2.สภามหาวิทยาลัย อ้างว่าได้มีการเลิกจ้าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ จากความเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์แล้ว จึงไม่มีคุณสมบัติเป็นอธิการบดีได้ แม้ศาลปกครองจะคุ้มครองชั่วคราวแล้วก็ตาม ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะ

2.1 สภามหาวิทยาลัยได้อ้างข้อเท็จจริงนี้ต่อศาลปกครองแล้ว ตามที่ปรากฏในสำนวนและศาลปกครองได้รับรู้ข้อเท็จจริงและข้ออ้างนี้จนหมดสิ้น แต่ก็ยังมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอธิการบดีอยู่ดี แปลว่าการเลิกจ้างไม่ได้เป็นเหตุให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ เป็นอธิการบดีไม่ได้

2.2 การเลิกจ้าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชาล ทองประยูร (รักษาการอธิการบดีในขณะนั้น) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก 1)ไม่ผ่านที่ประชุม กบม. และ2)ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า 3 เดือนตามที่กำหนดไว้ข้อสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชาล ทองประยูร ยังเป็นคู่กรณีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ เนื่องจากมีเหตุฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางปกครองและอาญา จึงไม่สามารถพิจารณาเรื่องทางปกครองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่

2.3 คุณสมบัติของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นไปตาม มาตรา 23 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 เท่านั้น ซึ่งไม่มีข้อมาตราไหนกำหนดว่า อธิการบดี จะต้องเป็นพนักงานตำแหน่งอาจารย์ เพียงแต่ต้องมีประสบการณ์สอนหนังสือมาแล้ว 5 ปี ซึ่งเป็นเรื่องในทางข้อเท็จจริง แม้จะมีการเลิกจ้างก็ไม่ได้ทำให้ประสบการณ์สอนหนังสือหายไป และมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่เคยอ้าง พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือกฎหมายอื่นใด นอกเหนือจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหาร สังเกตได้จากอดีต อธิการบดี และรองอธิการบดี หลายท่านที่อายุเกิน 60 ปี และไม่ได้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างตำแหน่งอาจารย์ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

3.สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้ง รักษาการอธิการบดี ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ทับซ้อนกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ซึ่งเป็น อธิการบดี ตามคำสั่งศาลปกครอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ จึงได้ยื่นคำขอให้ศาลปกครองดำเนินการบังคับตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยศาลปกครองได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ยกคำขอดังกล่าว ซึ่งได้มีบางท่านอ้างถึงแต่เพียงการยกคำขอ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลของศาล หรือแม้กระทั่งบิดเบือนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะหากพิจารณาเหตุผลของศาลปกครองแล้วจะพบว่า ศาลปกครองได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ผู้ฟ้อง (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่) ยังคงมีสถานะทางกฎหมาย อำนาจ และหน้าที่ในตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 14 กันยายน 2564 ดังเดิม” และยังย้ำอีกด้วยว่า “จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาเป็นอย่างอื่น” พูดง่าย ๆ คือ การที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ จะเป็นหรือไม่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือว่าจะเป็นไปถึงเมื่อใด ก็อยู่ที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าใครจะอ้างข้อกฎหมายอะไรมาโต้แย้งหรือต่อต้านคำสั่งศาล ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับความเป็นอธิการบดีของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ และหากไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองได้ ก็ควรใช้สิทธิทางศาลผ่านการอุทธรณ์โต้แย้งตามกฎหมาย ไม่ใช่ตีความกันเองว่าไม่สามารถปฏิบัติได้แล้วออกคำบังคับการกันเองนอกศาลปกครอง

4.ในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ทางศาลปกครอง โดยท่านประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลายสำนัก โดยสรุปว่า ตามคำสั่งศาลปกครอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ยังคงเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อไปได้ แต่หากว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ เห็นว่าตนเองไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือคำสั่งของศาลปกครองไม่สัมฤทธิ์ผลจริง ๆ ก็สามารถมายื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำบังคับใหม่ได้ และยังอธิบายว่า “ตามคำสั่งศาลที่ให้ทุเลาคดีนั้น จริงๆ ผู้ถูกฟ้องคดี (หมายถึงสภามหาวิทยาลัย) ต้องปฏิบัติตาม เพราะยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคดี ถ้ามีปัญหาเพิ่มขึ้น ผู้ฟ้องคดี (หมายถึงอธิการบดี) ก็สามารถมาร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบังคับใหม่ได้” ปัญหาเพิ่มขึ้นที่ว่าก็หมายถึงการขัดขวางหรือการกล่าวอ้างใด ๆ เพื่อไม่ให้ อธิการบดี สามารถทำงานตามคำสั่งศาลปกครอง จนเกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินและยากเกินการเยียวยาในภายหลังได้นั่นเอง

5.เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ยังคงเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง บรรดารองอธิการบดี ชุดผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ก็ยังคงเป็น รองอธิการบดี ตามกฎหมาย เพราะสถานะของรองอธิการบดีขึ้นอยู่กับสถานะของอธิการบดี ตาม มาตรา 23 วรรคท้าย พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 หากอธิการบดีพ้นตำแหน่งรองอธิการบดีก็พ้นไปด้วย ในเมื่ออธิการบดี กลับมาดำรงตำแหน่งตามคำสั่งศาลปกครอง รองอธิการบดีก็กลับมาด้วยเช่นกัน ซึ่งเทียบเคียงได้กับการที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อครั้งที่ศาลปกครองเห็นว่ามติสภามหาวิทยาลัยในการถอดถอนอธิการบดีครั้งที่ 1 อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคราวนั้นบรรดารองอธิการบดีก็กลับมาปฏิบัติงานพร้อมอธิการบดีโดยไม่ได้มีการเสนอสภามหาวิทยาลัยให้แต่งตั้งใหม่แต่อย่างใด และสภามหาวิทยาลัย ก็มิได้คัดค้าน รวมถึงอนุมัติให้แต่งตั้งรองอธิการบดีชุดใหม่เมื่อรองอธิการบดีชุดเดิมครบวาระตามปกติ

6. เมื่อพิเคราะห์จาก 1. คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ลงวันที่ 13  กุมภาพันธ์ 2566 ร่วมกับ 2. คำสั่งศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ร่วมกับ 3. การแถลงข่าวของศาลปกครองในวันที่ 7 มีนาคม 2566 วิญญูชนย่อมสรุปได้ถูกต้องตรงกันว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ยังคงเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปจนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ข้อโต้แย้งหรือข้ออ้างหรือคำสั่งอื่นใดจากใครก็ตามที่ไม่ใช่ศาลปกครอง หรือพยายามตั้งตนเป็นศาลเสียเองย่อมไม่กระทบต่อความเป็นอธิการบดีของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่

7.ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏในภายหลังว่าผู้ถูกฟ้องคดี (สภามหาวิทยาลัย) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 (แต่สภามหาวิทยาลัย กลับไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อบุคลากรชาวรามคำแหงในงานแถลงข่าว ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงในวันที่ 2 มีนาคม 2566) จึงเป็นที่น่าสงสัยในการตีความของสภามหาวิทยาลัย ว่าตกลงผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ มีสถานะเป็นอธิการบดีอยู่หรือไม่ ? ถ้าสภามหาวิทยาลัย คิดว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ไม่มีสถานะเป็นอธิการบดีแล้ว จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่ออะไร ? การยื่นอุทธรณ์ของสภามหาวิทยาลัย ถือเป็นการยอมรับในตัวเองอยู่แล้วว่าสภามหาวิทยาลัยก็เชื่อว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ยังคงเป็นอธิการบดีอยู่โดยผลของคำสั่งศาลปกครอง จึงได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลปกครองเพื่อหวังให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั่นเอง

8.ทุกฝ่ายควรเคารพคำสั่งของศาลปกครอง เนื่องจากศาลเป็นองค์กรสูงสุดในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางกฎหมาย และศาลเป็นองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” และมีผลเป็นที่สุดในข้อพิพาทดังกล่าว ผูกพันคู่ความและสามารถอ้างยันแก่บุคคลภายนอกได้ทั้งปวง หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล ก็ควรใช้วิถีทางตามกฎหมาย เช่นอุทธรณ์โต้แย้งต่อศาลปกครองสูงสุด ไม่ใช่การตีความหรือบังคับการใด ๆ ตามอำเภอใจ ดังนั้น นอกจากศาลปกครองแล้ว ไม่มีองค์กรอื่นใดมีอำนาจพิจารณาหรือตีความ “คำสั่งของศาลปกครอง” ได้อีก สภามหาวิทยาลัย รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ไม่มีอำนาจใด ๆ ในการพิจารณาหรือตีความคำสั่งของศาลปกครองให้แตกต่างออกไปจากคำสั่งของศาลปกครอง หรือสั่งการใด ๆ อันมีผลขัดต่อคำสั่งศาลปกครองได้

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จึงขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัย ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองอย่างเคร่งครัด หยุดสร้างเงื่อนไขหรือวาทกรรมอื่นใดที่จะเป็นการจงใจ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง หรือแม้กระทั่งการออกมติใดๆที่เป็นผลร้าย โดยมีเจตนากลั่นแกล้ง จนทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง อีกทั้งของให้สภามหาวิทยาลัยเคารพมติมหาชน ชาวรามคำแหงทั้ง 3 สาย อันได้แก่ สายคณาจารย์ สายเจ้าหน้าที่ และสายนักศึกษา ที่ได้เห็นพ้องต้องกันในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หยุดเล่นการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ ที่พลันแต่จะทำลายมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัญหาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมีอีกมากมายที่รอการแก้ไขและพัฒนา โปรดหันมาร่วมมือกับพวกเราทั้ง 3 สายในการนำพามหาวิทยาลัยรามคำแหงไปสู่ความเจริญงอกงาม แต่หากพวกท่าน(สภามหาวิทยาลัย)ไม่สามารถร่วมมือกับพวกเราได้ แต่ยังมีใจที่รักมหาวิทยาลัยรามคำแหง แห่งนี้ ก็ขอได้โปรดแสดงสปิริตลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเสียแต่บัดนี้