รมว.คลัง เปิดงานเทศกาลทุเรียนดินภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2566-ผวจ.ศรีสะเกษ คาด สร้างรายให้เกษตรได้กว่า 2,500 ล้านบาท

รมว.คลัง เปิดงานเทศกาลทุเรียนดินภูเขาไฟศรีสะเกษ  ปี 2566-ผวจ.ศรีสะเกษ คาด สร้างรายให้เกษตรได้กว่า 2,500 ล้านบาท





ad1

วันนี้ (23 มิ.ย. 66) ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมืองฯ จ.ศรีสะเกษ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลทุเรียนดินภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2566” ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. – 2 ก.ค. 66 เพื่อประชาสัมพันธ์ทุเรียนดินภูเขาไฟศรีสะเกษ ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีศรีสะเกษที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มช่องทางการการตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดศรีสะเกษ

ภายในงานมีการประกวดผลผลิตทางการเกษตร ทุเรียนดินภูเขาไฟศรีสะเกษพันธุ์หมอนทอง เงาะพันธุ์โรงเรียน มังคุด สะตอพันธุ์ข้าว และส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม การจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีศรีสะเกษ ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานจากเกษตรกร กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กว่า 200 ร้านค้า การแสดงนิทรรศการผลงานทางวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของส่วนราชการ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน

                                อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดบการคลัง

ก่อนพิธีเปิดงานฯ ได้มีการเดินแบบผ้าไหมพื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษ  สอดคล้องกับการคัดตัวแทน นายแบบ และเดินแบบ ที่สวมใส่ชุดพื้นบ้าน ผ้าทอเบญจศรี ที่สวยงามตระการตา นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันปลอก กิน ทุเรียนเขาไฟ โดยมีตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอ ลงแข่งขัน ประกอบด้วย อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ  ซึ่งกติกา คือ หากทีมใด สามารถแกะทุเรียนและกินทุเรียน 3 กิโลกรัม ให้หมดก่อน เป็นผู้ชนะ ซึ่ง  ทีมที่ชนะ เป็นทีมที่มาจากอำเภอศรีรัตนะ โดยใช้เวลาในการปลอกทุเรียนและกินทุเรียน ไปทั้งสิ้น 3.36นาที

                                                   สำรวย  เกษกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

นายสำรวย  เกษกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ถือได้ว่าเป็นดินแดนมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของอีสานใต้ เพราะนอกจากเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ หอมแดง กระเทียม ที่มีคุณภาพมาตรฐานจนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งปลูกไม้ผลคุณภาพดี โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เนื่องจากเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟโบราณ และความชุ่มชื้นจากแนวป่าเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ จึงเปรียบเสมือนหัวรถจักรสำคัญ ที่ขับเคลื่อนภาคการเกษตร รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและการบริการ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร และอื่นๆ ให้ได้รับประโยชน์ไปด้วย โดยในปี 2566 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 13,642.50 ตัน คาดการณ์ว่าจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในจังหวัด มูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านบาท

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน