นายกฯ"เศรษฐา"เล็งผุดโครงการ"โขง-ชี-มูล-เลย"แก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมระยะยาว

นายกฯ"เศรษฐา"เล็งผุดโครงการ"โขง-ชี-มูล-เลย"แก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมระยะยาว





ad1

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ก.ย. 2566 ที่เขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ,นางมนพร เจริญศรี  รมช.คมนาคม ,นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม ,นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และ นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อเปิดรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ในพื้นที่ อ.อุบลรัตน์ และ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตร และปัญหาหนี้สินเกษตรกร หลังพบว่า ทั้ง 2  พื้นที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำจากทางเหนือของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งที่ผ่านมาประสบทั้งปัญหาน้ำและน้ำท่วมและอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมน้ำแล้ง จากเกษตรกร ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นภารกิจแรกของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ในเรื่องเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพรวมทั้งที่ดินทำกิน ซึ่งการประชุม ครม.นัดแรก จะมีการนำปัญหาหนี้สิน การพักหนี้เกษตรกร เข้าสู่การประชุมเป็นวาระเร่งด่วน โดยเฉพาะในเรื่องของปุ๋ย จะมีมาตรการในการบรรเทาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และจะมีการให้ความรู้ด้านการเกษตร ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มาตรการบรรเทา ราคาน้ำมันดีเซลและราคาไฟฟ้า

" ปัญหาหนี้สินการพักหนี้เกษตรกรนั้น จะเน้นการเพิ่มรายได้สุทธิ พักรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการลงพื้นที่พบปะพูดคุยในครั้งนี้ จะนำเอาประเด็นปัญหา เข้าสู่การแก้ไขโดยจะลงมือทำทันที ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง"

ซึ่งบรรยากาศในขณะที่ คณะของนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะกับประชาชน ซึ่งมีทั้งประชาชนคนเสื้อแดง ชาวบ้านในหลายพื้นที่รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับกันอย่างเป็นกันเอง พร้อมทั้งร่วมกันรับประทานอาหารเที่ยงกับชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้านได้นำหนังสือสะท้อนปัญหาต่างๆมอบให้กับทางนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ช่วยเหลือแก้ไข ทั้งเรื่องค่าพลังงานที่แพง ค่าปุ๋ยที่แพง รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ 

โดยทางนายเศรษฐา ได้ชี้แจงว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยพร้อมทั้งให้คำมั่นกับพี่น้องประชาชนว่าจะลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันดีเซลทันทีภายหลังจากประชุมครม.นัดแรกเสร็จ เพราะนโยบายต่างๆจะต้องหารือร่วมกันหลายพรรค เพื่อให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และอยากให้มองในภาพรวมของการทำงาน ไม่อยากให้มองเฉพาะตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองเพียงพอความขอบไม่ชอบ

 ซึ่งภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีรับประทานอาหารร่วมกับชาวบ้านเสร็จ ก็ได้ถ่ายรูปกับผู้ที่มารอรับและขอเข้าพบก่อนจะเดินทางไปที่ จ.อุดรธานี ตามตารางการปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรีและคณะต่อไป

ขณะที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 296 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 16% ของความจุอ่างฯ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 39% กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับจังหวัด วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างรัดกุม คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 จะมีปริมาณน้ำเพียง 709 ล้าน ลบ.ม. จะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนถัดไป และอุตสาหกรรมเท่านั้น

ส่วนด้านการเกษตร จะมีการพิจารณาด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุน โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำชีและกรมชลประทาน ยังได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยในระยะสั้น จะสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าไปกำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อจัดทำแหล่งน้ำสำรอง กักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด ส่วนในระยะกลาง ได้จัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน โดยการจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) จำนวน 5 แห่ง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร และอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) หากมีการดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 240 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์มากถึง 188,000 ไร่

"ชลประทาน มีอีกหนึ่งแผนงานสำคัญในการรับรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง คือ โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน พร้อมอาคารประกอบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีแผนดำเนินงานปี พ.ศ.2564-2569 เป็นการขุดลอกแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มความจุเก็บกักน้ำจากเดิม 7.43 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35.02 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกประมาณ 35,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ต่อยอดพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคตอีกด้วย

ส่วนในระยะยาว ได้วางแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงการลุ่มน้ำชี ด้วยการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย การขุดคลองชักน้ำ บ่อดักตะกอน และอาคารควบคุมน้ำ การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำด้วยแรงดัน คลองลำเลียงน้ำ และการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำทางน้ำเปิด รวมแนวผันน้ำทั้งหมดประมาณ 174.449 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยในการส่งน้ำไปยังบริเวณพื้นที่สูงหรือพื้นที่แห้งแล้งได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ เช่น เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ ได้อีกทางหนึ่งด้วย"