นครพนมอ่วม!พื้นที่เกษตรจมบาดาล-วัวควายนับหมื่นขาดแคลนอาหาร

นครพนมอ่วม!พื้นที่เกษตรจมบาดาล-วัวควายนับหมื่นขาดแคลนอาหาร





ad1

มื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.นครพนม หลังได้รับผลกระทบจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังนานเกือบ 3 เดือน นับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้างในพื้นที่ 12 อำเภอ โดยถูกน้ำท่วมขังร่วม 1 แสนไร่ และหลังน้ำลดก็อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาสายหลัก เช่น โซนใต้คือ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ส่วนโซนเหนือคือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม เอ่อล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวที่เพิ่งผ่านการปักดำได้ไม่นาน รวมถึงพื้นที่ลุ่มส่วนใหญ่เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรไม่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์การเกษตร ได้แก่ วัว ควาย ต้องหนีน้ำท่วมอพยพไปเลี้ยงไว้ที่สูง ต่างได้รับผลกระทบขาดแคลนอาหาร ต้องสต็อกหญ้าสด หญ้าแห้งสำรองไว้ จนกว่าระดับน้ำลดเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร มีปริมาณล้นเกินความจุ ทะลักลงลำน้ำก่ำไหลสู่พื้นที่ จ.นครพนม ก่อนระบายลงน้ำโขง ทำให้มีพื้นที่ใกล้ลำน้ำก่ำมีน้ำเอ่อล้นท่วมเพิ่มขึ้น

นายสามารถ อ่อนสองชั้น ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ได้ประสานงานร่วมกับทีมปศุสัตว์ฯทั้ง 12 อำเภอ และ อาสาปศุสัตว์ รวมถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม ระดมนำหญ้าแห้งอัดแท่ง ไปแจกจ่ายช่วยเหลือแล้วในพื้นที่ 8 อำเภอ ตามที่เกษตรกรร้องขอรวมกว่า 60 ตัน พร้อมแจกเวชภัณฑ์ยารักษาโรค ให้การดูแลป้องกันโรคระบาดที่จะมากับน้ำท่วมขัง พร้อมสำรองหญ้าแห้งอัดแท่ง ไว้ช่วยเหลือต่อเนื่องจนกว่าระดับน้ำจะลด

นายสามารถ เปิดเผยว่า ในช่วงระยะกว่า 2 เดือนเศษที่ผ่านมา พื้นที่ จ.นครพนม ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มีพื้นที่กระทบหนักที่ติดลำน้ำสาขาสายหลักน้ำโขง รวม 8 อำเภอ ทางปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ได้ประสานพื้นที่ ลงไปสำรวจให้การดูแลช่วยเหลือต่อเนื่อง ปัญหาหลักคือ ชาวบ้านขาดแคลนอาหารสัตว์ วัว ควาย มีตัวเลขว่าได้รับผลกระทบเกือบ 10,000 ตัว จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือ แจกหญ้าแห้งอัดก้อน รวมแล้วกว่า 60 ตัน พร้อมได้ยังสต๊อกไว้อีก 10 ตัน จนกว่าน้ำจะลดเกษตรกรสามารถนำสัตว์เลี้ยงได้ตามปกติ ซึ่งผู้เลี้ยงยังขอสนับสนุนหญ้าแห้งได้อีกต่อเนื่อง มั่นใจอาหารสัตว์เพียงพอ

นอกจากนี้ยังได้แจกเวชภัณฑ์ รวมถึงให้ความรู้เรื่องป้องกันโรคระบาด สัตว์เลี้ยงเสี่ยงเป็นโรคปวดบวม และท้องเสีย ฝากเกษตรกร เฝ้าระวัง พบผิดปกติแจ้งอาสาปศุสัตว์ หรือปศุสัตว์ตำบล อำเภอใกล้บ้านทันที