กรมชลฯพร้อมผุดโมเดลอ่างเก็บน้ำคะนานแก้ภัยแล้ง

กรมชลฯพร้อมผุดโมเดลอ่างเก็บน้ำคะนานแก้ภัยแล้ง





ad1

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่ ผู้ใหญ่บ้านตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และปัญหาเรื่องอุทกภัยในลุ่มน้ำห้วยโมงตอนบน กรมชลประทานได้พิจารณาวางโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ในพื้นที่ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และตำบลน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการในลำดับที่ 4 ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง หลังจากปี 2563 ที่ได้ศึกษาโครงการความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีกรอบแนวคิดในการศึกษาและกำหนดทางเลือก รูปแบบในการพัฒนาโครงการโครงการไว้ 3 ทาง ได้แก่

สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

1. บริหารจัดการโดยใช้สิ่งก่อสร้างเดิม ลักษณะเป็นฝายทดน้ำจำนวน 3 แห่ง แต่เป็นการก่อสร้างเฉพาะแห่ง โดยสำนักชลประทานที่ 5 ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้แค่บางส่วนเท่านั้น จากพื้นที่เกษตรทั้งหมดประมาณ 400 ไร่

2.การก่อสร้างฝายทดน้ำเพิ่มเติม ตามสภาพภูมิประเทศสามารถก่อสร้างได้จำนวน 7 แห่ง เมื่อรวมกับที่ก่อสร้างไว้แล้ว 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 10 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำไว้หน้าฝายรวมทั้งสิ้นประมาณ 507,500 ลบ.ม. ส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์รวมได้ทั้งสิ้น 1,490 ไร่

ศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าฯ หนองบัวลำภู

3.พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานพร้อมระบบส่งน้ำ ตำแหน่งที่ตั้งอ่างเก็บน้ำของโครงการอยู่หมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 8 ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู และหมู่ที่ 15 ตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานีมี ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 16.10 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้แก่พื้นที่รับประโยชน์รวมได้ทั้งสิ้น 12,417 ไร่ จากการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ พบว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานพร้อมระบบส่งน้ำ ตามทางเลือกที่ 3 จะมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการมากที่สุด

เนื่องจากเป็นทางเลือกที่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่ถาวรและมั่นคง พร้อมระบบชลประทานสามารถส่งและกระจายน้ำให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่รับประโยชน์ได้ทั่วถึง สามารถใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค และอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ นอกจากนี้ราษฎรยังปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ ถือเป็นแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

จากผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน ที่ตั้งอ่างจะครอบคลุ่มพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี รับประโยชน์รวม 12 หมู่บ้าน 4 ตำบล 2 อำเภอ ได้ประโยชน์ในฤดูฝน 11,538 ไร่ ฤดูแล้ง 2,500 ไร่ ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยราคาค่าก่อสร้างและแผนงานก่อสร้างโครงการรวม 1,160 ล้านบาท

อุทัย พุทธโก กำนันตำบลบุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

การก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน จะมีผลกระทบด้านต่างๆ คือ 1. สูญเสียต้นไม้บางส่วนในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) ของป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย และป่านากลาง พื้นที่ 478.61 ไร่ 2. เสียพื้นที่การเกษตรบริเวณที่ก่อสร้างหัวงาน 113 ไร่ และพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 994 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 1,107 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ยางพารา อ้อย และข้าว 3. มีราษฎรสูญเสียที่ดินรวม 254 ราย 305 แปลง รวม 1,531 ไร่ แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างโครงการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ 4. การใช้เส้นทางในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง อาจส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง การชำรุดของถนนจาการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน มีมาตรการรองรับได้แก่ การปลูกป่าทดแทน 2 เท่าของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป จ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินให้กับผู้ได้รับผลกระทบในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงปรับปรุงเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งวัสดุก่อสร้าง (ถนนเข้าหัวงาน) และกำหนดความเร็วขนส่งไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในบริเวณที่เป็นชุมชน และความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของโครงการ ด้วยระบบโทรมาตร ได้แก่ การเชื่อมโยงกับ Website ของโครงการชลประทานหนองบัวลำภูและสำนักชลประทานที่ 5 การเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน (SWOC) และสถานีโทรมาตรในสนาม ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และอาคารบังคับน้ำที่สำคัญในการบริหารจัดการ

ขณะที่ นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จ.หนองบัวลำภู มีลำน้ำสองสายไหลผ่าน ในช่วงหน้าน้ำ มีน้ำไหลผ่าน มาเร็วไปเร็ว ทำให้เก็บกักน้ำไม่ได้ เมื่อการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยคะนานขึ้นมา ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะเพื่อการเกษตร ซึ่งมีความสำคัญกับเกษตรกรในพื้นที่หนองบัวลำภู รวมถึงจ.อุดรธานี ที่เป็นเขตติดต่อกัน อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี ในระยะยาวยังทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนในอำเภอสุวรรณคูหาได้

ด้าน นายอุทัย พุทธโก กำนันตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า ที่ผ่านพบเจอปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด ช่วงแรกชาวบ้านขอเป็นฝายชะลอน้ำกับกรมชลประทาน เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ทางกรมชลฯลงมาสำรวจ มีความคิดว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำ น่าจะได้ประโยชน์กว่า จึงปรากฎออกมาเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยคะนาน จากผลสำรวจพบว่ามีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ70กว่าราย แต่ผู้ได้รับผลประโยชน์มีค่อนข้างเยอะ ทั้งตำบลบ้านหยวก อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี และ บ้านดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู หากมีน้ำแล้ว ชาวบ้านจะมีน้ำใช้สำหรับทำเกษตร สวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน ยางพารา นำมาทั้งผลผลิตรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น