ปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องเริ่มที่ต้นตอ แก้แบบองค์รวม

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องเริ่มที่ต้นตอ แก้แบบองค์รวม





Image
ad1

ไทยย่างเข้าฤดูผจญฝุ่น PM2.5 อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ยาวไปถึงเดือนเมษายน โดยข้อมูลคุณภาพอากาศจาก Air4Thai วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานคร เกินมาตรฐาน 71 พื้นที่ ขณะที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงต้องจับตาดูความพยายามของรัฐบาลชุดนี้ในการป้องกันปัญหาฝุ่นพิษและหมอกควันข้ามแดน ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าต้นทุนเศรษฐกิจของไทยเพิ่มจาก 2.10 แสนล้านบาทในปี 2533 เป็น 8.71 แสนล้านบาทในปี 2556 จากผลกระทบของฝุ่น PM2.5

จากการศึกษาของคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฏหมายว่าด้วยอากาศสะอาด พ.ศ... ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างหลักการแล้ว และจากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยืนยันตรงกันว่าต้นตอของฝุ่น PM2.5 คือ ไฟไหม้ป่า และการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตร รวมถึงหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดทางอ้อมของ PM2.5 สำคัญที่สุด คือ มีการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากถ่านหินและน้ำมัน และในปี 2567 ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจทำให้ความแห้งแล้งรุนแรงและมีผลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ 

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ปีนี้ รัฐบาลได้สั่งการตรงไปจังหวัดต่างๆ ให้มีการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะ 17 จังหวัด ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มากกว่าภาคอื่นๆ ให้จัดหานวัตกรรมในการแจ้งเตือนไฟป่า อุปกรณ์ดับไฟ ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณให้กับเจ้าหน้าที่และชุมชนเพื่ออบรมการเฝ้าระวังไฟป่า รวมถึงการหารือในระดับผู้นำกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการป้องกันหมอกควันข้ามแดน ทั้ง เมียนมา ลาว และกัมพูชา ให้การแก้ปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการป้องกันการเผาในแปลงเพาะปลูก ที่ประเทศเหล่านี้ยังพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก

สำหรับประเทศไทยการแก้ปัญหาแบบองค์รวมจำเป็นต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในวงจรมาผนึกกำลังกัน ประกอบด้วย ภาครัฐ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายและมาตรการจูงใจ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในฐานะผู้ผลิต ผู้ได้รับผลกระทบและผู้ร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายพร้อมๆ กัน สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องเริ่มจาก การควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาโดยเฉพาะภาคการเกษตร และป่าอนุรักษ์ 11 แห่ง ป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง ซึ่งรัฐบาลต้องมีนโยบายมาตรการจูงใจชัดเจน เช่น การสนับสนุนด้านการเงินกับเกษตรกรที่ไม่เผาตอซัง บริหารจัดการการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างเหมาะสมและสมดุล ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนเทคโนโลยีในการป้องกันไฟป่า และมีกฎหมายจัดสรรที่ดินทำกินที่เป็นธรรม ควบคู่กับกับมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกป่า 

นอกจากนี้ ควรนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาบังคับใช้กับภาคเอกชน เพื่อรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งการนำเข้าและส่งออก ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ ต้องมีนโยบายขึ้นทะเบียนเกษตรกรและผู้รับซื้อผลผลิต ต้องไม่มาจากการเผาและบุกรุกป่า ตลอดจนรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทีมป้องกันไฟป่า ในการจัดตั้งระบบเตือนภัย ซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ขณะเดียวกันต้องพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

ที่สำคัญ ภาครัฐต้องมีมาตรการจูงใจให้คนตระหนักรู้อยู่กับป่าอย่างสมดุล ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า หรือ เผาป่าเพื่อหาประโยชน์ในการสร้างรายได้ ต้องมีมาตรการจูงใจให้อพยพจากที่สูงลงมาอยู่พื้นราบ ด้วยการจัดสรรที่ดินทำกินให้อย่างเป็นระบบและเป็นธรรม สู่การการกำหนด Zoning พื้นที่ทางการเกษตรให้เหมาะกับปริมาณน้ำและดินของแต่ละพื้นที่ ตามแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร 

นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ... ต้องมีบทลงโทษที่เข้มงวดกับผู้กระทำผิดและผู้ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5  เพื่อลดความเสียหายต่อคุณภาพดิน น้ำ คุณภาพชีวิตของสัตว์ป่าและสมดุลธรรมชาติ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจประเทศไทย ให้การแก้ปัญหาและการใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกัน./

โดย...บดินทร์ สิงหาศัพท์  นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม