เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ คึกคักทั่วไทย จัดยิ่งใหญ่ดึงต่างชาติมาสาดน้ำสนั่นเมือง

เย็นทั่วหล้า  มหาสงกรานต์ คึกคักทั่วไทย จัดยิ่งใหญ่ดึงต่างชาติมาสาดน้ำสนั่นเมือง





ad1

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัล และด้านการท่องเที่ยวรองรับนโยบาย Thailand Creative Content Agency (THACCA) และนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ในการสร้างเสน่ห์วิถีไทยครองใจคนทั้งโลก ด้วยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) 

ในปีพุทธศักราช 2567 นี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 เพื่อฉลองวาระสำคัญดังกล่าว ได้แก่ การจัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศ จำนวน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส และกำลังดำเนินการจัดทำภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติม คือ ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอินเดีย ภาษาพม่า เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

สำหรับการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการจัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในช่วงเดือนเมษายน ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่ม Kick off ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 อาทิ กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญชวนคนไทยและนักท่องเที่ยวร่วมงานดังกล่าว เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่สำคัญนี้ และร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย อันทรงคุณค่าของประเทศให้คงอยู่สืบไป

ภายในงานแถลงข่าวมีการแสดงทางวัฒนธรรมชุดพิเศษ “รำวงนางสาวไทย” โดย นางสาวไทย และรองนางสาวไทย ประจำปี 2567 ประกอบด้วย  นางสาวพนิดา เขื่อนจินดา (นางสาวไทย 2567)  นางสาวพรศิริกุล พั่วทา รองอันดับ 1  ร.ต.อ.หญิง อาทิติยา เบ็ญจะปัก รองอันดับ 2  นางสาวน้ำหนึ่ง แวน เดอ เวน รองอันดับ 4  นาวสาวกุลปรียา ค้อนทอง (รองชนะเลิศอันดับ 1 Miss Face Of Humanity 2024  การแสดงเริงรื่นชื่นสงกรานต์ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และการแสดงนาฏศิลป์ประกอบบทเพลงสงกรานต์(ภาษานานาชาติ)  โดยสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

ในส่วนกลาง กิจกรรมประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมสืบสานคุณค่าอัตลักษณ์ความงามของประเพณี ประกอบด้วย

1. กิจกรรม งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ในวันที่ 10 เมษายน 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

2. งาน นิทรรศการ “สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ระหว่าง 10 – 12  เมษายน 2567 เวลา 10.00 - 21.00 น. ณ ลานกลางแจ้ง หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ปทุมวัน

3. กิจกรรม “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ระหว่าง 12-15 เมษายน 2567 เวลา 14.00-16.00 น. ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร (พิธีเปิด 13 เมษายน 67 เวลา 14.00 น. ณ พระวิหารหลวง) สรงน้ำพระพุทธรูปและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด การแสดง "ตำนานนางสงกรานต์" โดยแอนโทเนีย โพซิ้ว มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023  ประกวดก่อพระเจดีย์ทราย การแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตทางวัฒนธรรม ซุ้มอาหารคาว-หวานมากมาย ฯลฯและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร  ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมกทม. จัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์  ประกอบด้วย 

1) “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็นเป็นสนุก” วันที่ 13-15 เมษายน 2567 ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม.  

2) “สงกรานต์ซัมเมอร์ อโลฮ่า ปาร์ตี้” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 10-17 เมษายน 2567 ณ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา กทม.  3) EDM Songkran BAZAAR music Festival 2024 กิจกรรมถนนสายน้ำ วันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ เดอะบาซาร์ รัชดา เขตจตุจักร กทม.  4) “สรวลเสเฮฮา มหาสงกรานต์สยาม” การละเล่นไทย ดนตรีและประเพณีร่วมสมัยในรูปแบบงานวัดจำลอง ณ สวนสยาม เขตคันนายาว กทม.  และ  5) “เพลิดพราว ดาวสงกรานต์ ความงามในตำนาน แห่งถนนสีลม” วันที่ 15-16 เมษายน 2567 ณ ถนนสีลม เขตบางรัก กทม.

ส่วนกิจกรรมสงกรานต์ไฮไลท์ในส่วนภูมิภาคที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต สมุทรปราการ และชลบุรี ประกอบด้วยกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสื่อถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค  อาทิ ขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์  สักการะ-สรงน้ำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง  ทำบุญสงฆ์น้ำพระ  นิทรรศการแสดงข้อมูลองค์ความรู้ประเพณีสงกรานต์  การแสดงศิลปวัฒนธรรม ตำนานนางสงกรานต์ (แสดงโดยนางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 ประจำปี 2023 ณ จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น)  การแสดงของศิลปินแห่งชาติ  การแสดง-การละเล่นพื้นบ้านวิถีถิ่น ตลาดวัฒนธรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมของท้องถิ่น มีกำหนดจัดงานดังนี้

จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมทางวัฒนธรรมวิถีล้านนา ณ ข่วงเมืองต่าง ๆ ระหว่าง 4 - 21 เม.ย. 67 / กิจกรรม ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 13 – 16 เม.ย. 67 ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ (13 เม.ย.) สักการะพระพุทธสิหิงค์ ยามค่ำคืน / *เปิดตัวนางสงกรานต์ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 14 เม.ย. การแสดงการแสดงตำนานสงกรานต์ โดย แอนโทเนีย โพซิ้ว ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 700 ปี)  ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย ณ ประตูท่าแพ เป็นต้น

ขอนแก่น ประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี ระหว่าง 13-15 เมษายน 67 / งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น ณ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น 11-15 เม.ย. 67 / งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว พิธีเปิด 15 เม.ย. แอนโทเนีย โพซิ้ว แสดงตำนานนางสงกรานต์ กิจกรรมวันข้าวเหนียวครอบครัวเดียวกัน และคลื่นมนุษย์ (Human Wave) ณ ถนนข้าวเหนียว พลาดไม่ได้กับ อุโมงค์น้ำ “มนต์ธาราศรัทธาสายมู”

ภูเก็ต งานภูเก็ตนครา มหาสงกรานต์ 2567 “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตเพอรานากัน” ระหว่าง 13-15 เมษายน 67 (พิธีเปิด 14 เม.ย.)  ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร)  อำเภอเมือง  ภูเก็ต พบกิจกรรมนิทรรศการมีชีวิต 4 โซน ชมห้องตำนานสงกรานต์ วิจิตรา Digital Art ฯลฯ

สมุทรปราการ งานสงกรานต์ “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนมอญ/รามัญ” ระหว่าง 18-20 เม.ย.67 ณ ป้อมแผลงไฟฟ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ การละเล่นและวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ขบวนแห่รถบุปผชาติ ขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การประกวดนางสงกรานต์พระประแดง / การประกวดหนุ่มลอยชาย

และจังหวัดชลบุรี งานสงกรานต์ “สงกรานต์งามวิจิตร อัตลักษณ์วิถีชีวิต ชลบุรี” Pattaya Old Town ระหว่าง 19 – 21 เม.ย. 67  ณ ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา วัดหนองใหญ่ พัทยา และวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) การแสดงตำนานนางสงกรานต์ การสาธิตการก่อเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุด ขบวนแห่มหาสงกรานต์ ฯลฯ