เตรียมพร้อมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รองรับ Low Carbon Tourism
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนกำลังเผชิญ มีงานวิจัยพบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก นอกจากนี้สถิติของนักท่องเที่ยวทั่วโลก 69% ของนักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม66% ของนักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน 65% ของนักท่องเที่ยวสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชน เป็นต้น
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจชุมชนผ่านการส่งเสริมและพัฒนาอย่างครบวงจร หนึ่งในภารกิจหลักคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนประกอบการด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ประมาณ 2,200 แห่ง และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 60 แห่ง ได้แก่ บริการด้านที่พัก บริการนำเที่ยว บริการให้เช่าพาหนะ ดังนั้น การมุ่งเป้าหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง
กรมส่งเสริมการเกษตรวางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Climate Smart Agriculture and Regenerative Agriculture) ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียนและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งต้องให้นักส่งเสริมการเกษตรมีทักษะ Green Skill หรือทักษะเศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่ วิทยาศาสตร์, สถาปัตยกรรมและการวางแผน, วิศวกรรมศาสตร์, เกษตรกรรม, ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการคิดเชิงระบบ รวมทั้งพัฒนากระบวนการงานบริการที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น งานบริการประสานงาน อนุญาต ตามกฎหมายระเบียบของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวของกับการพัฒนาองค์กรและพัฒนาสินค้าและบริการ การประสานงานเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงิน งานบริการข้อมูล ความรู้ทางวิชาการด้านการเงินการบัญชี
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตการตลาด ด้านการกำกับดูแลและการนำองค์กรที่ดี ตลอดจนงานบริการตามมาตรการส่งเสริมสนับสนุนตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด รวมทั้งจัดทำพัฒนาการให้บริการทั้งด้านการให้องค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับแหล่งให้ได้มาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างการรับรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว ซึ่งปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ได้มีการปรับเปลี่ยนการให้บริการในการต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งจากเดิมใช้กระดาษทิชชูได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ผ้าเช็ดหน้า การนำเอาเศษอาหารจากการให้บริการมาทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อเป็น Zero Waste หรือการพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมุ่งเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สร้างโอกาสและการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการและชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น และเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนเริ่มกลับมาดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้ฟื้นฟูและอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง