เลาะอ่าวไทย !!! ชมประมงพื้นบ้าน..วิถีชุมชนคนริมเล “บางตาวา”


“ปัตตานี” ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกมากมาย ใครที่ชอบแนววิถีชุมชน “หมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน” ลองแวะมา แถวๆ“ต.บางตาวา” ห่างจากตัวอ.หนองจิกเพียงไม่กี่กิโลเมตร สามารถขับรถแวะไปได้ตรงบริเวณ ซอยเล็กๆ ตรงหัวสะพานตุยง ถ้าจำไม่ได้ ให้ดูป่องโรงรมยางที่เก่าแก่สูงตระหง่านอยู่ข้างทาง ตรงข้ามถนนจะมีซอยเล็กๆลัดไป “ต.บางตาวา” ไม่ได้ซับซ้อน แต่ก่อนที่จะถึงทะเล ผ่านวัดไร่ หลวงพ่อแดง อยู่ขวามือแวะไปนมัสการได้ ถือว่าเป็นพระเกจิดังอีกองค์หนึ่งของเมืองตานี ที่มีชื่อเสียงด้านปลุกเสกวัตถุมงคล
ย้อนกลับมา “บางตาวา” พื้นที่มีอาณาเขตติดต่อฝั่งทะเลอ่าวไทย แต่ปรากฏว่าพื้นที่ตรงนี้มีน้ำจืดตลอดทั้งปี ชาวบ้านแถบนั้นเลยตั้งชื่อว่า “ควาลออาเยรตาวา” แปลว่า “ปากบางน้ำจืด” ต่อมาได้เปลี่ยนคำหลังเป็น “ตาวา” แปลว่าน้ำจืด จนเป็นที่มาตำบล “บางตาวา” จนถึงวันนี้
บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ลักาณะก่อสร้างอาคารไม้ บางหลังก่ออิฐขนาดชั้นเดียว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และเครือญาติที่มีความสนิทสนมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้าน โดยใช้เรือเล็ก และเรือกอแหละออกหาปลาในทะเลอ่าวไทยในพื้นที่รอบๆชายฝั่ง อาชีพรองชาวบ้าน จะรับจ้างกันในชุมชน
ซึ่งส่วนใหญ่อาชีพทำการประมง สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น ทำกันทั้งครอบครัวคือ พ่อ แม่ ลูก โดยสมาชิกครอบครัวจะร่วมแรง ร่วมใจช่วยกันทำมาหากิน โดยบางบ้านจะมีเรือหาปลาขนาดเล็กเป็นของตนเอง บางบ้านมีเรือกอและที่มีการออกแบบลวดลาย ด้านข้างลำเรือที่ดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณ ส่วนสัตว์น้ำที่ออกไปหาในทะเล ประเภทปลา ปู กุ้ง หอย ที่พบบริเวณปากอ่าว ซึ่งเป็นแหล่งปลาอุดมสมบูรณ์ ใช้เวลา 1 วัน ส่วนใหญ่ ปลากะพง ปลาจาระเม็ด ปลาข้างเหลือง ปลาสีกุน และปูดำ
ปลาที่ชาวประมงจับมาได้ จะส่งขายตามตลาดแถวอำเภอใกล้เคียง ค่อนข้างขึ้นชื่อ เป็นที่ต้องการของลูกค้า ถ้าบอกว่าปลาจับมาได้จากทะเลย่านบางตาวา ค่อนข้างที่การันตีได้ เรื่องคุณภาพ ความสด เมื่อซื้อมาปรุงอาหารปักษ์ใต้ อาหารมุสลิม จะมีรสชาติดี
โดยเฉพาะปลาเค็ม เป็นอีกอาชีพหนึ่งของคนบางตาวา ที่ทำปลาเค็มตากแห้งขาย อย่างปลาหลังเขียวค่อนข้างขึ้นชื่อมาก ถ้านักท่องเที่ยวขับรถผ่านก่อนถึงชายหาดบางตาวา จะเห็นชาวบ้านตากปลาแห้ง ส่งกลิ่นหอมชวนชิม เรียงรายอยู่บนตาข่าย ยิ่งวันไหนที่มีอากาศร้อนจัด เหมาะสมที่นำมาปลามาตากแห้ง ส่วนใหญ่ปลาเหล่านี้มาจากชาวประมงในพื้นที่นำมาขาย แปรูปเป็นปลาเค็มตากแห้ง
แม้ว่า ช่วงระยะหลังๆมานี้ ในอ่าวไทยย่านบางตาวา ปลาเริ่มหายาก หรือลดน้อยลงไปบ้าง ส่งผลต่อการออกหาปลาในทะเลเริ่มหายากมากขึ้น แต่ประชาชนพื้นที่ไม่ได้ละทิ้งอาชีพที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ส่วนเด็กรุ่นใหญ่ๆออกไปหาอาชีพรับจ้าง บางคนเลี้ยงสัตว์ ทำสวน และค้าขายอาหารทะเลตามตลาดนัด ในอำเภอใกล้เคียง
ชีวิตยามว่างจากทำประมง ชาวบ้านจะมาดูแลความเรียบร้อย เรือประมง อวน เพื่อตระเตรียมเครื่องมือหาปลา หากุ้ง หาปู บางคนจะมาตรวจความเรียบร้อยของเรือว่า มีชำรุดหรือไม่ บกพร่องอะไรบ้าง ก่อนที่นำเรือออกทะเล เพื่อซ่อมแซมได้ทัน ยิ่งทะเลในช่วงมรสุม ชาวประมงต้องระมัดระวังกันตามคำเชื่อมาแต่โบราณ
บริเวณริมชายหาด “บางตาวา” วันนี้ อาจไม่ได้สถานที่ตากอกาศสวยหรู แต่เป็นแหล่งเรียนรู้หมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านอีกแห่งของจังหวัดปัตตานี วันนี้บริเวณชายหาดแปรเปลี่ยนไปเยอะ เจ้าหน้าที่รัฐได้นำคอนกรีตแท่งมาวางกองริมหาด เพื่อป้องกันตลิ่นพัง จากการกัดเซาะน้ำทะเล
แต่วิถีชีวิตคนริมเล ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องภูมิปัญญาการทำประมง ชาวบ้านแถบนี้มีความรู้ มีความเข้าใจ ทั้งเรื่องน้ำขึ้น น้ำลง และกระแสลม เนื่องจากองค์ความรู้เหล่านี้ จะมีความสำคัญต่อการออกเรือไปหาปลาในทะเลแถบอ่าวไทย แม้แต่ ในทะเลชาวประมงจะต้องรู้ว่าบริเวณไหนมีน้ำลึก น้ำตื้น และมีปลาชุกชุม ซึ่งศาสตร์เหล่านี้มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านล้วนๆ
เสน่ห์คนริมเล ย่านบางตาวา ใครที่มาสัมผัสได้เห็นวิถีชุมชน บอกเลยว่า ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่เรือหาปลา ยังมีอะไรอีกมากมายให้ได้ศึกษากัน