นายกฯ เผยข้อดีของรถติด! ชี้อย่างน้อยก็ “ไม่ตาย” - ปี 64 ชาวกรุงเสียเวลาบนถนน 71 ชม.

นายกฯ เผยข้อดีของรถติด

นายกฯ เผยข้อดีของรถติด! ชี้อย่างน้อยก็ “ไม่ตาย” - ปี 64 ชาวกรุงเสียเวลาบนถนน 71 ชม.





ad1


- นอกจากความอันตรายของถนนไทย ที่แต่ละปีคนกว่า 20,000 คน ต้องจบชีวิตลงจากอุบัติเหตุและการชน อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการเดินทางสัญจร ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตแบบสุดๆ คือ “ปัญหารถติด” ล่าสุดประเด็นนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลัง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขึ้นกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “บทบาทผู้นำประเทศ” ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” ตอนหนึ่งระบุว่า “รถติดก็ดีอยู่อย่าง ถนนที่ติดอุบัติเหตุก็น้อย อย่างน้อยก็ไม่ตาย เพราะรถวิ่งเร็วไม่ได้ไง”
.
▪️ อยู่มานานรู้ปัญหาแต่แก้ไม่ได้ 100% เพราะความร่วมมือไม่เกิด
.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ เรามีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บบนท้องถนน ลดลงเหลือ 12 คน/แสนประชากร แม้เป็นสิ่งที่ยาก แต่จะทำให้ดีที่สุด นอกจากการบังคับใช้กฎหมาย การลงโทษและมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องนำมาคิดด้วยคือคำว่า “บริบทของคนไทยในปัจจุบัน” วันนี้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน กระจายอยู่หลายพื้นที่ แต่ก่อนอยู่ที่ถนนสายหลัก ปัจจุบันเริ่มอยู่ที่ถนนสายรอง และกระจายในพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น
.
“สาเหตุที่ได้รับรายงานมากที่สุด เกิดขึ้นในกลุ่มจักรยานยนต์ จากการใช้ความเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร กฎหมายมีทุกตัวและเจ้าหน้าที่จับได้หมด แล้วจะเอาอย่างไร ถ้าต้องการให้ดี 100% ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานแบบ 100% ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ให้มีการจับกุมทั้งหมด หากผิดกฎหมาย แล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้น แต่หากทุกคนร่วมมือกัน คงไม่มีปัญหาจะต้องจับใครทั้งนั้น ไม่มีใครอยากจับไม่มีใครอยากลงโทษ และไม่อยากให้มีใครไปเสียชีวิต นี่คือ 2 ด้านที่ต้องคิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
.
▪️ ชาว กทม. เสียเวลาบนท้องถนน ปีละ 71 ชม.
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือคำกล่าวปาฐกถาในช่วงท้าย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อดีของรถติดว่า “รถติดก็ดีอยู่อย่าง ถนนที่ติดอุบัติเหตุก็น้อย อย่างน้อยก็ไม่ตาย เพราะรถวิ่งเร็วไม่ได้ไง” เนื่องจากขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า “ยิ่งอยู่บนถนนนานยิ่งเพิ่มความเสี่ยง” โดยเฉพาะบนถนนที่มีการจราจรแออัดหนาแน่น ซึ่งข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุจราจร ชี้ว่าบริเวณที่การจราจรหนาแน่นและรถติด มีผลเชื่อมโยงนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ จากการขับรถแซงกัน การเบียดซ้อนคัน การฝ่าไฟแดง และการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
.
ล่าสุดเว็บไซต์จัดอันดับด้านการจราจร TOMTOM TRAFFIC INDEX ได้เผยผลการจัดอันดับมูลการจราจรปี 2564 รวม 404 เมือง ใน 58 ประเทศ 6 ทวีป ซึ่ง กทม. เมืองหลวงของประเทศไทยนั้น พบว่า ชาวกรุงเสียเวลาในการเดินทาง 71 ชม./ปี อยู่ในอันดับที่ 17 ของทวีปเอเชีย และครองอันดับ 74 ของโลก 
.
▪️ ผลสำรวจพบ 3 ใน 4 เป็นถนนที่ไม่ปลอดภัย
.
นอกจากความเสี่ยงข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การชน คือ “กายภาพถนน” ซึ่งจากผลสำรวจสภาพถนนไทย ระยะทาง 1,000 กม. โดยศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP พบว่า 3 ใน 4 เป็นถนนที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มจักรยานยนต์ จากสภาพผิวถนนที่เป็นบ่อ ขรุขระ มีหลุมลึก ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือแม้แต่การออกแบบเรขาคณิตของถนน การเข้าโค้ง และการมองเห็น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการออกแบบรองรับรถยนต์มากกว่า
.
ThaiRAP ระบุด้วยว่า อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ คือ สิ่งอันตรายข้างทาง เช่น เสาไฟฟ้า ต้นไม้ โดยเฉพาะการขับชนต้นไม้ เป็นสาเหตุการตายสูงสุด ขณะที่แบริเออร์ที่ออกแบบไว้ ส่วนใหญ่เป็นแนวป้องกันสำหรับรถยนต์ มากกว่ารถจักรยานยนต์ ปัจจุบันในบางประเทศจึงเริ่มมีการทำแบริเออร์ สำหรับรถจักรยานยนต์เพื่อลดความสูญเสีย ดังนั้น โครงข่ายถนนที่มีความปลอดภัย จึงไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัย แต่ยังช่วยปกป้องชีวิตผู้ใช้ถนนกลุ่ม “เปราะบาง” โดยเฉพาะคนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และจักรยานยนต์ได้มากขึ้น