ศาลจังหวัดสงขลานัดพร้อมออนไลน์ กรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว  ทนายความยืนยันต้องการสืบพยานในห้องพิจารณา

ศาลจังหวัดสงขลา

ศาลจังหวัดสงขลานัดพร้อมออนไลน์ กรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว  ทนายความยืนยันต้องการสืบพยานในห้องพิจารณา





ad1

วันนี้( 27 ต.ค. 2564) เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดสงขลานัดพร้อมออนไลน์ เพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานคดีไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อีกครั้ง หลังจากที่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสงขลาได้หารือกับพนักงานอัยการและทนายความฝ่ายญาติของผู้ตาย เพื่อขอสืบพยานผ่านระบบออนไลน์ และพนักงานอัยการและทนายความฝ่ายผู้ร้องคัดค้านเห็นว่า การสืบพยานผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาในการซักถามพยาน จึงเลื่อนคดีออกไปเพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 และได้นัดหารือกันอีกครั้งตามวันเวลาข้างต้น ทนายความต้องการจะยืนยันให้ศาลสืบพยานในห้องพิจารณาคดีเพื่อซักถามพยานผู้ร้อง (อัยการ) และพยานผู้คัดค้าน (ญาติ) ให้ได้ความจริงในเรื่องสาเหตุการตาย


.ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความคิดเห็นว่า มาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ต้องไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการพักหรือเลื่อนนัดพิจารณาคดีที่สำคัญและมีผลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพิจารณาคดีที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นการสืบพยานผ่านระบบออนไลน์ (Video Conference) ยังคงต้องรักษาหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ตามที่คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้มีบันทึกทางกฎหมายเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2564 ชื่อ “ศาลกับวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย”  


“การไต่สวนการตายกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ มีความล่าช้ามากว่า 10 เดือน และเป็นเวลาเกือบ2 ปี 3 เดือน ภายหลังเหตุการณ์ที่ทำให้นายอับดุลเลาะหมดสติ สมองบวม และเสียชีวิตในเวลาต่อมา การไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อมูลถึงพฤติการณ์ที่เป็นผลให้นายอับดุลเลาะเสียชีวิต จึงมีความสำคัญต่อการคลี่คลายข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว
.


มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเชิญประชาชนและสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าของคดีนี้อย่างใกล้ชิด และร่วมติดตามว่าคู่ความจะสืบพยานออนไลน์หรือไม่ รวมถึงการสืบพยานออนไลน์อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสังเกตการณ์ของสาธารณชนหรือฝ่ายต่าง ๆ ที่สนใจอีกด้วย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมตามกระบวนการทางกฎหมาย และเพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไปกว่านี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่นายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ และครอบครัวต่อไป  


-------------
หมายเหตุคดี:
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 และส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 2562 พบว่านายอับดุลเลาะ หมดสติอยู่ในห้องควบคุมศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยนายอับดุลเลาะ ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นได้ส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี ต่อมาวันที่ 22 ก.ค. 2562 ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และต่อมาได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ และ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะห์ ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562 ทั้งนี้คดีไต่สวนการตายนี้ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมในการแต่งตั้งทนายความช่วยเหลือคดี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายอับดุลเลาะและครอบครัว ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาให้ถึงที่สุดต่อไป .
ที่ผ่านมา คดีนี้ มีการนัดสืบพยานไปแล้วรวมจำนวน 16 ปาก  ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหารจำนวน 13 คน แพทย์ 2 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน โดยคดีนี้พนักงานอัยการและทนายฝ่ายญาติของนายอับดุลเลาะฯ ประสงค์จะให้สืบพยานปากแพทย์ประจำโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารผู้ตรวจร่างกายนายอับดุลเลาะฯ ก่อนการเข้าสู่การควบคุมที่ศูนย์ซักถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร อีกทั้งยังเป็นแพทย์ที่รักษานายอับดุลเลาะฯ เป็นครั้งแรกหลังจากการหมดสติในห้องควบคุมของศูนย์ซักถาม พยานแพทย์ปากนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาพยานติดภารกิจไปราชการที่ต่างประเทศเป็นเวลานานหลายเดือน ศาลจึงเลื่อนนัดเพื่อรอให้พยานกลับประเทศไทยเสียก่อน


.