นายกฯ เป็นปธ.หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 65 ย้ำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่บัตรคนจน-จะทำทุกอย่างให้โปร่งใส-ที่ดินน่าจะพอ เพราะคนอยากไปต่างประเทศเยอะ

นายกฯ เป็นปธ.หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 65 ย้ำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่บัตรคนจน

นายกฯ เป็นปธ.หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 65 ย้ำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่บัตรคนจน-จะทำทุกอย่างให้โปร่งใส-ที่ดินน่าจะพอ เพราะคนอยากไปต่างประเทศเยอะ





ad1

09 พ.ย. 2565  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 และบรรยายหัวข้อวิชา “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ

วันนี้ (9 พ.ย. 65) เวลา 09.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 และบรรยายหัวข้อวิชา “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะนักศึกษา วปอ.รุ่นที่ 65 เข้าร่วมพิธีด้วย

 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ว่า สอดคล้องและตรงกับเจตนารมณ์หลักของการก่อตั้งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร คือ ความร่วมมือและการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เหล่าทัพ และภาคเอกชนเพื่อปกป้องรักษาประเทศไทย ซึ่งวันนี้ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนก้าวหน้าไปมากท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของทุกคนจึงต้องปรับเปลี่ยน ควบคู่กับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของชาติ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาด้วย


 
นายกรัฐมนตรีได้ชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบของประเทศไทยว่า มีทรัพยากรและมีความพร้อมในการพัฒนาในหลากหลายด้าน แม้ที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ตลอดจนเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่ทำให้คนไทยต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาตนเอง แต่ในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เห็นภาพของความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน รวมทั้งบทบาทที่เข้มแข็งของทั้งภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา แก้ไขปัญหาของประชาชน และพยายามขับเคลื่อนแผนงานโครงการของตนให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว จึงเป็นเวลาที่ทุกคนจะได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ชะลอไว้ รวมถึงใช้โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปค แสดงให้ต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติได้ซึ่งมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งคมนาคมของประเทศที่มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของทุกคนเป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างความเจริญให้ประเทศชาติ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และการเมือง เป็นต้น
 
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ในการที่จะร่วมกันสร้างความเจริญให้ประเทศว่า ภาครัฐมีหน้าที่หลักในการรักษาอธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของประเทศ การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐาน การจัดให้มีหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการที่เหมาะสมเพียงพอ สอดคล้องกับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด การส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง เรียนและพัฒนาคนให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning  ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าทั้ง 5 มิติ คือมิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาในกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน รวมถึงให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนและประชาชน ขณะที่ภาคเอกชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีส่วนร่วมในการนำนโยบายต่าง ๆ ของรัฐไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการลดโลกร้อนตามนโยบายรัฐบาลและทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในขณะนี้ การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคม รวมทั้งเป็นเสียงสะท้อนนโยบายและการดำเนินงานของภาครัฐ สำหรับภาคการเมือง เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน มีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนในการดำเนินนโยบายและการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่าไม่ใช่บัตรคนจน แต่เป็นการพุ่งเป้าในการไปดูแลประชาชนกลุ่มผู้มีรายน้อยและกลุ่มเปราะบาง ส่วนจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นของบัตรสวัสดิการฯ ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนจนที่เพิ่มขึ้น เพราะระดับความยากจนจะมีเส้นขีดแบ่งชัดเจนกำหนดรายได้เอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้น บัตรสวัสดิการฯ จึงไม่ใช่บัตรคนจน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้นเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย มีความอยู่รอด ลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือนแบบพุ่งเป้า ต้องให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม หลายคนมองว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ แต่สิ่งที่ตนต้องการคือการพุ่งเป้าลงไปในการแก้ไขปัญหา แต่ขึ้นอยู่กับผู้รับว่าจะนำไปใช้อย่างไร

“ผมจะทำทุกอย่างให้โปร่งใสและเป็นธรรมที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการปรับแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายหลายตัวที่มีมายาวนาน เพราะปัจจุบันกฎหมายบางอย่าง ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ใช่คนที่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นคนช่างคิด คิดไปเรื่อย แต่ถ้าเราหยุดคิด ก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย หรือคิดเฉพาะความขัดแย้ง คิดว่าจะไปสู้เขาอย่างไร ซึ่งถือว่าไม่เป็นประโยชน์ คนไทยเข้มแข็ง แข็งแรงอยู่แล้ว แต่ยังแตกแยกกันอยู่ ปัญหาคือความรักสามัคคีของคนในชาติ อย่าเอาตน มาเป็นตัวกำหนดว่า ใครจะรักหรือไม่รักตน แต่ก็ขอบคุณคนที่รักกัน วันนี้มีความสุข ก็อาจจะพูดจาไม่เป็นทางการอยู่บ้าง

นายกรัฐมนตรี กล่าว ถึงการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน ตนและรัฐบาลได้คิดออกมา ถึงได้มีคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติขึ้นมา ไปดูการเข้าถึงที่ดินและการทับซ้อนของที่ดินของภาครัฐ ที่มีมากพอสมควร

“วันนี้ที่ดินของประเทศไทยอาจจะลดลงก็ได้ เพราะซ้ำซ้อนกัน แต่ก็เพียงพอ เพราะก็มีคนอยากไปอยู่ต่างประเทศเยอะพอสมควร ที่ดินก็น่าจะพอ พูดไปเดี๋ยวก็เป็นข่าวอีก ตนชอบพูดหาเรื่อง แต่ตนไม่อยากไปตอบโต้ เพราะประเทศชาติเดินไปข้างหน้าด้วยดี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการเมือง ล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงและสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติทั้งสิ้น ซึ่งเปรียบเสมือนฝ่ามือ มีนิ้วมือทั้ง 5 ประกอบด้วย รัฐบาล ภาคเอกชน ภาคการเมือง ความดี และความรู้ โดยมีประชาชนเป็นดั่งอุ้งมือที่คอยยึดโยงนิ้วมือทั้ง 5 ไว้ และฝ่ามือนี้ต้องทำงานสอดประสานร่วมกัน ทั้งในการผลักดันและสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์ ร่วมกันปกป้องรักษาประเทศ ผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนหลายมิติ ภาครัฐ เอกชน และภาคการเมืองจึงจำเป็นต้องสร้างจุดยืนร่วมกัน เพื่อการทำงานไปสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่ประเทศมีอยู่ซึ่งรวมไปถึงการใช้ทรัพยากรบุคคลทุกช่วงวัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
 
สำหรับหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 65 มีผู้เข้ารับการศึกษา จำนวน 284 คน ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาจากต่างประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสิงคโปร์ และเครือรัฐออสเตรเลีย สำหรับการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคปฐมนิเทศ ใช้เวลาศึกษา 3 เดือน และภาคการศึกษาหลัก ใช้เวลาศึกษา 9 เดือน ประกอบด้วย การบรรยาย การถกแถลง การสัมมนาทางวิชาการ การแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการ การเขียนบทความทางวิชาการ การเขียนเอกสารวิจัย การศึกษาดูงานภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาและทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ซาติ ได้แก่ กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคคลทั่วไปได้ โดยจะมีการเสนอผลการสัมมนาของนักศึกษาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณานำไปใช้ประโยชน์ต่อไป