"ศักดิ์สยาม" ปาฐกาพิเศษ"กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง”

"ศักดิ์สยาม" ปาฐกาพิเศษ"กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง”





ad1

"ศักดิ์สยาม" ปาฐกาพิเศษในงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” ชี้ คมนาคม จะไม่หยุด หรือชะลอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม  พร้อม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน  ในงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง” โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน และกล่าวปาฐกาพิเศษ และ มีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้าน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมต่าง ๆ และตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยวและภาคการขนส่ง รวมทั้ง   ภาคประชาชน เข้าร่วมงานดังกล่าว ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ณ ห้องฟินิกซ์ 1 - 6 อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

รมว.ศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ได้ประสานความร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย โดยกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน ณ สถานีกลางบางซื่อ ปัจจุบันได้ให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 20 ล้านโดส ซึ่งเป็นผลให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาด      ได้เป็นอย่างดี

กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญครอบคลุมพื้นที่ สามารถรองรับความต้องการของประชาชน และส่งผลต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายในทุกมิติของการเดินทางแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะกลับสู่ภาวะปกติในปี 2567 และผู้โดยสารจะเติบโตถึง 200 ล้านคนต่อปี ในปี 2574 โดยอุตสาหกรรมการบินของไทยจะเติบโตเป็นอันดับ 9 ของโลก นับตั้งแต่มีมาตรการเปิดประเทศ ปริมาณผู้โดยสารต่างชาติ       ต่อเดือนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มสูงขึ้นจาก 270,000 คนต่อเดือน ในช่วงต้นปี 2565 เป็นกว่า 1 ล้านคน    ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากการคาดการณ์ในปี 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางโดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กว่า 22 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 6 ล้านคน โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะอยู่ที่ประมาณคนละ 48,000 บาท  จะก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ สูงถึง 326,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 565,450 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณทางเศรษฐกิจถึง 1.34 ล้านล้านบาทซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการเตรียมความพร้อมแล้วในทุกมิติเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันท่าอากาศยานเกือบทุกแห่งมีความพร้อมแล้วสำหรับการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีการเตรียมความพร้อม Slot รองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตการเปิดประเทศในท่าอากาศยานหลัก การเตรียมความพร้อมระบบ Self Check-in ที่ท่าอากาศยาน เพื่อลดการสัมผัสตามมาตรการสาธารณสุข รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสาร และลดแถวคอย Check-in และเตรียมความพร้อมตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ ยังได้กำชับกรมการขนส่งทางบกให้ส่งผู้ตรวจการกรมฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ และรถแท็กซี่ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่าอากาศยาน สถานีขนส่งผู้โดยสารให้มีความพร้อมในการบริการผู้โดยสาร ส่วนการเดินรถโดยสารประจำทางเส้นทางระหว่างประเทศ บขส. ได้เปิดเดินรถระหว่างประเทศไทย - สปป.ลาว จำนวน 9 เส้นทาง ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

2. การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกันทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ขณะที่หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงทุนในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนพัฒนางานคมนาคมครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ดังนี้
มิติการเดินทางทางราง

การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และชานเมือง ซึ่งเป็นหัวใจการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และลดปัญหามลพิษ ซึ่งตามแผนแม่บทการพัฒนามีทั้งหมด 14 สี 27 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วจำนวน 7 สี 11 เส้นทาง รวมระยะทาง 212 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 สี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 114 กิโลเมตร ได้แก่ 
1) สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม 2566 
2) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2566 
3) สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี     คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2568 และ 
4) แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท - ดอนเมือง ตามแผนจะเปิดให้บริการเดือนมกราคม 2571
.
การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนารถไฟทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟ ดังนี้ 
1) เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จ ประกอบด้วย เส้นทางลพบุรี - ปากน้ำโพ นครปฐม - หัวหิน หัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร

2) เริ่มงานการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ประกอบด้วย เส้นทางเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม     และ 3) การเสนอขออนุมัติโครงการทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร จะทำให้ประเทศไทยจะมีเส้นทางรถไฟทางคู่มากกว่า 3,200 กิโลเมตร ทั่วประเทศ
.
การพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชน และเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาค ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการ ดังนี้ 
1) โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา 
2) โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย และ 
3) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) 
.
มิติการเดินทางทางถนน
กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาการคมนาคมขนส่งทางถนนที่สำคัญ ประกอบด้วย 
1) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) 
2) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ทั้ง 2 โครงการจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2565 และเริ่มหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารที่พักริมทาง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้บางส่วนในปี 2566
.
มิติการเดินทางทางน้ำ
โครงการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญของประเทศไทย จำนวน 2 ท่าเรือ ประกอบด้วย 
1) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เมื่อพัฒนาแล้วจะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบังจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568 และ 
2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการถมทะเล โดยจะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือจาก 16 ล้านตันต่อปี เป็น 31 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569
.
มิติการเดินทางทางอากาศ  
โครงการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศที่สำคัญ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย ประกอบด้วย 
1) การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หรือ SAT-1 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ และ 
2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3 ล้านคนต่อปี ให้ได้ 15.9 ล้านคนต่อปี ในปี 2567 ช่วยรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC

.
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศสำหรับอนาคต ประกอบด้วย 
1) โครงการ MR-MAP เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 10 เส้นทาง แบ่งเป็นแนวเหนือใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก - ตะวันตก 6 เส้นทาง และแนววงแหวนอีก 1 เส้นทาง 
2) โครงการ Landbridge ชุมพร - ระนอง กระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย และอันดามัน ที่จังหวัดชุมพร และระนอง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของช่องแคบมะละกา และจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน  ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญ และ 
3) การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางทะเล อยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ โดยรูปแบบในการดำเนินการรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชนในการจัดตั้งสายเดินเรือของไทยขึ้น โดยรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกพร้อมให้สิทธิพิเศษในการจัดตั้ง และดำเนินการเพื่อให้กองเรือไทยสามารถแข่งขันได้ 
และเป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าของไทย ทั้งการนำเข้า และส่งออก  เพื่อสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

  ท้ายนี้ รมว.ศักดิ์สยาม ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เปิดเวที     รับฟังความเห็นจากตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว และภาคการขนส่ง รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อรวบรวมความเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมนำความเห็นที่เป็นประโยชน์ไปปรับการดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน