ชาวขอนแก่นต่อคิวเข้ารับคำปรึกษากับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนหวังแก้ปัญหาหนี้สิน

ชาวขอนแก่นต่อคิวเข้ารับคำปรึกษากับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนหวังแก้ปัญหาหนี้สิน





ad1

ขอนแก่น-ชาวขอนแก่นต่อคิวเข้ารับคำปรึกษากับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนหวังแก้ปัญหาหนี้สิน พร้อมขอให้สถาบันการเงินขยายเวลาให้บริการให้คำปรึกษา ได้เป็นที่พึ่งของประชาชน  ขณะที่ รมว.คลัง ระบุรัฐต้องการแก้ปัญหาหนี้สินในระยะยาว

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 พ.ย. 2565 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดขอนแก่น (KICE) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง  เป็นประธานเปิดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2  ซึ่งกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย. 2565  โดย ธกส. ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งร่วมจัดกิจกรรมขึ้น ท่ามกลางความสนใจของชาวขอนแก่น ที่ต่อแถวเข้ารับคำแนะนำ คำปรึกษาในการแก้หนี้กับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ที่มาเปิดบูธให้บริการกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่ลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ และมาสอบถาม ที่หน้างานอีกจำนวนมาก

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า  ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประชาชนประสบปัญหาทั้งสถานการณ์โควิดระบาด,สถานการณ์ อุทกภัย  รวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  ที่สร้างความเดือดร้อนให้อย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ประชาชนประสบภาวะหนี้สินในวงกว้าง  กระทรวงการคลังจึงมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เพื่อเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระการผ่อนชำระ การลดอัตราดอกเบี้ย การขยายเวลาการชำระหนี้ ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ การตัดเงินต้นเพิ่มเติม ครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อประเภทต่างๆ ทั้ง สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อภาคการเกษตร ลูกหนี้บัตรเครดิต ควบคู่กับการให้คำปรึกษาทางการเงิน การเติมองค์ความรู้ในการฟื้นฟูอาชีพเดิม การสร้างอาชีพเสริม อาชีพใหม่และการเติมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยพิเศษและเงื่อนไขที่ผ่อนปรน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในระยะยาว

“สำหรับงานมหกรรมเพื่อช่วยเหลือแก้ไขหนี้ให้กับประชาชน ทางกระทรวงมีแนวทางในการแก้ไขหนี้สินอย่างยั่งยืนผ่าน 3 องค์ประกอบ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง  การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรือมีอาชีพเสริม โดยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้ และการให้ความรู้ทางการเงินและการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน  ขอให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหาหนี้สิน ไม่มีทางออกเข้ามาขอคำปรึกษากับสถาบันการเงิน ที่มาออกบูธให้คำปรึกษา หนี้สินสามารถแก้ไขได้”