พลังศรัทธา!ชาวไทย-ลาวนับแสน ร่วมแห่พระอุปคุต งานพระธาตุพนมเมืองนครพนม

พลังศรัทธา!ชาวไทย-ลาวนับแสน ร่วมแห่พระอุปคุต งานพระธาตุพนมเมืองนครพนม





ad1

นครพนม- เนืองแน่นพลังศรัทธาไทยลาว นับแสน ร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ แห่พระอุปคุต ตามประเพณีความเชื่อ เปิดงานบุญใหญ่อีสาน บุญเดือนสาม นมัสการองค์พระธาตุพนมวันแรก สืบสานประเพณีโบราณ กระตุ้นเศรษกิจการท่องเที่ยว ดารานักร้องหนุ่ม เต๋า ภูศิลป์ เจ้าของเพลงมนต์รักพระธาตุพนม ควงดาราสาว ไข่มุก รุ่งรัตน์ พร้อม ข้าวทิพย์ ธิดาดิน และนางเอกมิวสิก สาวลาวใต้ พุดทะสอน นำเครื่องกราบไหว้ถวายเป็นพุทธบูชา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 มกราคม 2566 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม เขต 3 พรรคเพื่อไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ (ครูแก้ว) ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐเอกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว พลังศรัทธา ทั้งชาวไทย ชาวลาว ข้าโอกาสองค์พระธาตุพนม ร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ แห่พระอุปคุต ซึ่งถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ สืบทอดมาแต่โบราณ

 โดยจะประกอบขึ้นในช่วงเช้า ก่อนการเปิดงานวันแรก ของงานนมัสการองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ถือเป็นบุญใหญ่ของชาวอีสาน  ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี  2519  โดยเชื่อกันว่า ก่อนที่จะเริ่มงานนมัสการวันแรก จะต้องมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ตามประเพณีความเชื่อ คือ อัญเชิญองค์พระอุปคุตมาปกปักษ์รักษา ให้งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอด 9 วัน 9 คืน เช่นเดียวกันในปีนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 29 มกราคม 2566 – 6 กุมภาพันธ์ 2566  ซึ่งมีพลังศรัทธา ประชาชน นักท่องเที่ยว ข้าโอกาสพระธาตุพนม มาร่วมพิธีนับแสนคน

ขณะเดียวกัน ได้มีทีมดาราศิลปิน นักร้อง นักแสดง ชื่อดัง เต๋า ภูศิลป์ เจ้าของบทเพลงใหม่ล่าสุด มนต์รักพระธาตุพนม พร้อมนางเอกมิวสิคสาวสวย พุดทะสอน สาวลาวใต้ นอกจากนี้ยังมี น้องไข่มุก รุ่งรัตน์ และ นักร้องสาวสวย ข้าวทิพย์ ธิดาดิน รวมถึงทีมงาน มาร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุต แห่เครื่องสักการะบูชา ถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุพนม เพื่อเป็นสิริมงคล

สำหรับ งานนมัสการองค์พระธาตุพนม  จัดขึ้นเดือนมกราคม ของทุกปี หรือในช่วง วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงวัน วันแรม 1 ค่ำเดือน 3 ถือเป็นงานบุญประเพณีใหญ่ของชาวอีสาน ที่สืบสอดกันมายาวนาน ตั้งแต่ ปี 2519 ยาวนานกว่า 40 ปี โดยจากประวัติความเป็นมา ตามตำนานความเชื่อ พระอุรังคนิทาน ระบุไว้ว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางอากาศ เพื่อไปบิณฑบาต ที่เมืองศรีโคตรบูร สปป.ลาว ภายหลังได้มาประทับแรมที่ภูกำพร้า คือ จุดที่ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน จากนั้นพญาอินทร์ ได้เสด็จมาทูลถาม ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า เช่นกันกับพระพุทธองค์ เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก จะได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เช่นกัน

ภายหลัง พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก ได้ร่วมกัน สร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น เพี่ออัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาประดิษฐาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 -14 หรือในราวปี พ.ศ.8 สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร กำลังเจริญรุ่งเรือง โดยการนำของพญาเจ้าเมืองทั้ง 5 และพระอรหันต์ 500 องค์ ซึ่งในยุคแรก ได้ก่อสร้างจากดินดิบ เป็นเตาสี่เหลี่ยม ข้างในเป็นโพรงมีประตูทั้ง 4 ด้าน จากนั้นได้มีการบูรณะ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.500 และทำการบูรณะต่อเนื่องมา รวมถึง 6 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 พระธาตุพนมได้พังทลายลง เนื่องจากฐานเก่าแก่ ทำให้เป็นที่ฮือฮา เพราะได้พบเห็นผอบแก้ว บรรจุพระอุรังคธาตุ 8 องค์ ไว้ภายใน และมีการลงเข็มรากสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อปี 2519 เป็นเจดีย์ทรงฐาน 4 เหลี่ยม ความสูง จากพื้นถึงยอดฉัตร 57 เมตร ฐานกว้างด้านละ ประมาณ 12 เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ภายในได้บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก ของ พระพุทธเจ้า จากนั้น จึงได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลอง บูชาองค์พระธาตุพนม จนสืบทอดมาถึงถึงปัจจุบันทุกปี ที่สำคัญถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ส่งผลดีทั้งการท่องเที่ยว และสร้างเศรษฐกิจ เงินหมุนเวียนสะพัดปีละ หลาย 100 ล้านบาท ส่วนยอดทำบุญ มีพลังศรัทธาร่วมบริจาค ปีละไม่ต่ำกว่า 20 -30 ล้านบาท

ส่วนพระอุปคุตตามตำนานความเชื่อ ในสมัยพระเจ้าอโศก ถือเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์  บำเพ็ญเพียรใต้ท้องสมุทร ครั้นเมื่อ จะมีพิธีฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ เพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้มีการอัญเชิญ พระอุปคุต ขึ้นมาจากมหาสมุทร เพื่อปกป้องคุ้มภัย ไม่ให้พญามาร มาสร้างความวุ่นวายในงาน ทำให้พิธีสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงกลายเป็นประเพณีความเชื่อสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ทุกปี ได้มีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ โดยการจำลอง อัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมาจาก แม่น้ำโขง เพื่อมาประดิษฐาน ภายในวัด เพื่อปกปักษ์รักษา ให้งาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้ ทุกปี การเปิดงานวันแรก จะมีพลังศรัทธานับแสนคน มาร่วมพิธีแห่พระอุปคุต เพื่อเป็นสิริมงคล