ชุมชนประมงพื้นบ้านร่วมฟื้นฟูทรัพยากรในอ่าวปัตตานีอย่างยั่งยืน...

ชุมชนประมงพื้นบ้านร่วมฟื้นฟูทรัพยากรในอ่าวปัตตานีอย่างยั่งยืน...





ad1

วันนี้( 10 มิถุนายน 2566) อาจารย์อัลอามีน มะแต ประธานเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านและชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี และคณะผู้วิจัย โครงการวิจัยฟื้นฟูระบบนิเวศอ่าวปัตตานี ฯ ได้ทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกำปงบารู ม.3 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในร่องน้ำชุมชน จำนวน 5,000 ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและเสริมรายได้ให้กับกลุ่มประมงในอนาคต ซึ่งทางเครือข่ายได้บูรณาการทำงานและได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลา โดยความอนุเคราะห์จาก นางลัคณา ละอองศิริวงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี โดยมอบหมายให้ นายสุรพันธ์ คำทอง ตำแหน่ง นักวิชาการประมงปฏิบัติการ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

หลังจากนั้นทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนหารือกับแกนนำและสมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้าน ชุมชนลาโจ๊ะกู ชุมชนกำปงบูดี และชุมชนกำปงบารู ในประเด็นการฟื้นฟูฐานทรัพยากรและการใช้ประโยชน์จากอ่าวปัตตานีอย่างยั่งยืนเพื่อลดปัญหาโศกนาฏกรรมร่วม (Tragedy of common) จากการใช้ทรัพยากรและการแย่งชิงฐานทรัพยากรในอ่าวปัตตานีอย่างไร้ระเบียบ ของกลุ่มประมงพื้นบ้านบางกลุ่ม เช่น การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เครื่องมือประมงทำลายล้างสัตว์น้ำวัยอ่อน น้ำเสียจากครัวเรือน และโรงงานอุตสาหรรม โดยมีนายซัลมานร์ ลาหะมะ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายจังหวัดปัตตานี ในนาม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสามารถสรุปประเด็นความต้องการของกลุ่มประมงพื้นบ้านดังนี้

1. สนับสนุนกิจกรรมการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เช่น ทช ประมงจังหวัด ศรชล เป็นต้น
2. สนับสนุนการสร้างเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านในชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและตระหนักถึงปัญหาการลดน้อยถอยลงของฐานทรัพยากร และปัญหาการแย่งชิงฐานทรัพยากร ในอ่าวปัตตานีอย่างใกล้ชิด รวมถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเฝ้าระวังการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างใกล้ชิด กำหนดโซนนิ่งปลอดภัยหรือ ที่หลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อติดตามผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อฐานทรัพยากรในอ่าวปัตตานี

3. ผลักดันโครงการสร้างบ้าน (ซั้ง) ปลาเพื่อการฟื้นฟูฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน จำนวน 6 จุดๆ ละ 800 ตรม บริเวณ กลางอ่าวปัตตานี โดยใช้วัสดุธรรมชาติ และกั้นแนวเขตอย่าชัดเจนโดยท่อ พีวีซี ซึ่งอาจะกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ผ่านคณะกรรมการประมงจังหวัดในอนาคต โดยการเขียนข้อเสนอโครงการผ่านหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น อบจ ปัตตานี ประมงจังหวัด งบจังหวัด (ผ่านผู้ว่าฯ) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ปัตตานี (ทช) กอรมน เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งพักพิงและอนุบาลของสัตว์น้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์แนวใหม่จากบ้านปลา เช่น กิจกรรมนำเที่ยวตกปลากลางอ่าว เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้จากการทำบ้านปลาอย่างยั่งยืน

เวลา 14:00 น ทางเครือข่าย ฯ ได้ร่วมหารือ กับนาย  สุรพันธ์ คำทอง และนายจักรกฤษณ์ นพรัตน์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ  จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่งปัตตานี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ซุกรี หะยีสาแม หัวหน้าโครงการวิจัยระบบนิเวศอ่าวปัตตานี ฯ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นโอกาสและความท้าทายของความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานี ในปัจจุบันและอนาคต ผ่านข้อมูลทางวิชาการและการวิจัยเชิงปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดทางธรรมชาติในมิติของลดน้อยถอยลงของพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งในอ่าวปัตตานี รวมถึงโอกาสในการร่วมมือทางวิชาการในอนาคต เพื่อรักษาความอยู่รอดของอาชีพประมงพื้นบ้านในอ่าวปัตตานีสืบไป