ชง รมต.เกษตรฯ ศึกษา “โครงสร้างห่วงโซ่อาหาร” แก้ปัญหาภาคเกษตรได้ทั้งระบบ

ชง รมต.เกษตรฯ ศึกษา “โครงสร้างห่วงโซ่อาหาร” แก้ปัญหาภาคเกษตรได้ทั้งระบบ





Image
ad1

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกระทรวงหลักที่เป็นที่พึ่งของเกษตรกรทั่วประเทศ และมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนภาคเกษตรซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ในโอกาสที่กำลังจะมีรัฐมนตรีว่าการคนใหม่ จึงขอฝากให้ท่านเริ่มต้นด้วยการศึกษา “ห่วงโซ่การผลิตอาหาร” ทั้งระบบ

ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ จะทำให้มองเห็นภาพรวม ตั้งแต่ผลผลิตเกษตรที่ส่งออก ย้อนลงไปถึงเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นต้นทาง ช่วยให้สามารถลงรายละเอียดของแต่ละกรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตแต่ละขั้น รวมถึงมองเห็นว่ามีกระทรวงอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดบ้าง จะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์การทำงานภาคเกษตรของประเทศได้อย่างครบถ้วน และพาให้ทุกคนในห่วงโซ่การผลิตนี้เดินหน้าไปด้วยกันได้ทั้งหมด

“การแก้ปัญหาตั้งแต่โครงสร้างของห่วงโซ่อาหาร จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่นี้ ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่เหมือนที่ผ่านมาซึ่งถือว่าล้มเหลวมาก เช่น การแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่สมดุล จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายเล็กรายย่อยทยอยเลิกเลี้ยงกันไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการไม่แก้ปัญหาเป็นองค์รวม” นายพรศิลป์กล่าว

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ยกตัวอย่างการจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ทั้งหมด และเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตอาหารของประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของไทย เริ่มมีมาตรการ C-BAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน และการตัดไม้ทำลายป่าออกมาแล้ว

หากสินค้าไทยปลดปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิตมากกว่าที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดจะถูกเก็บภาษี ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทันที เช่น อุตสาหกรรมไก่เนื้อที่ใช้ข้าวโพดเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารไก่ อาจถูกเก็บ C-BAM เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยไม่ได้มาตรฐาน GAP และมีการปล่อยคาร์บอนเกินกำหนด ขณะที่ปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญ ตลอดจนผลผลิตข้าวโพดต่อไร่ที่ยังน้อย ก็นับเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทรวงต้องเร่งแก้ ซึ่งจะมองเห็นได้ทะลุปรุโปร่งจากการพิจารณาห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านรัฐมนตรีต้องวางโครงสร้างการผลิตข้าวโพดให้ได้มาตรฐานตั้งแต่วันที่ท่านเข้ารับตำแหน่ง ไม่เช่นนั้น อุตสาหกรรมอาหารมูลค่าหลายแสนล้านบาทของประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมไปถึงทุกคนในห่วงโซ่การผลิตนี้ ตลอดจนเศรษฐกิจของชาติที่ต้องได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปตามๆกัน  ทั้งนี้ โมเดลการแก้ปัญหาแบบครบวงจรนี้ ยังสามารถนำไปใช้กับ ข้าวและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์อีกด้วย

นายพรศิลป์ ย้ำอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ ควรทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) อย่างใกล้ชิด ด้วย พณ. มีบทบาทอย่างมากในทุกๆขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตอาหาร แม้เจ้ากระทรวงทั้งสองจะมาจากคนละพรรคก็ไม่ใช่ปัญหา และอาจจะทำงานร่วมกันได้ดีกว่าที่มาจากพรรคเดียวกันด้วยซ้ำ./