ชาวน่าน ลุ้น สว. ชุดใหม่ แอบส่องประวัติผู้สมัครระดับประเทศ คุณภาพไปไหน?

ชาวน่าน ลุ้น สว. ชุดใหม่  แอบส่องประวัติผู้สมัครระดับประเทศ  คุณภาพไปไหน?





Image
ad1

กำลังเป็นประเด็นสนใจ ในวงสนทนาของประชาชนชาวน่าน ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหลายคนเข้าไปส่องประวัติ ผู้ผ่านการคัดเลือกไปในรอบระดับประเทศ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote และเว็บไซต์ กกต. และพบว่าหลายราย มีอาชีพไม่ตรงกับกลุ่มวิชาชีพที่สมัคร อีกทั้งจำนวนมากที่ระบุประสบการณ์ ดูไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา

อาทิ ระบุประสบการณ์การทำงานเพียง “กรีดยางมาเป็นระยะเวลา 10 ปี” หรือ “มีความชำนาญในการดำนา” รวมถึงการเป็น “จิตอาสาเก็บขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม” จนเกิดคำถามว่า ผู้ที่มีประสบการณ์เหล่านี้ จะสามารถทำหน้าที่ สว.ได้ มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการตำแหน่ง สว.หรือไม่

นายสมชาย (ชอสงวนนามสกุล) ข้าราชการบำนาญ จ.น่าน ชี้ให้เห็นถึงจุดด้อย หลังเข้าไปส่องประวัติผู้สมัคร สว.ระดับประเทศ ในสาขาอาชีพแต่ละกลุ่ม ที่ดูจะมั่ว และจะมีอาชีพเกษตรกร ไปปะปนอยู่ในแทบทุกกลุ่ม เห็นชัดเจนกลุ่มสาธารณสุข ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความรู้ความสามารถด้านอะไร แต่ก็มีคนอาชีพทำนา เกษตรกรรม อยู่ร่วมด้วย นอกไปกว่านี้ ยังพบมีรายละเอียดประสบการณ์ ระบุจบ ป.4 ทำนา มาตลอดชีวิต ซึ่งดูไม่ค่อยเหมาะสมกับการมาสมัครเป็น สว.


นายประทีป ทรงลำยอง อดีตรองปลัดกระทวงแรงงาน และเป็น 1 ในผู้สมัครสว.ตกรอบระดับอำเภอ จ.น่าน เปิดเผยว่า เป็นที่น่าสังเกตในเรื่องของความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ 10 ปี ของผู้สมัครหลายราย ไม่ตรงกับกลุ่มวิชาชีพ อย่างไรก็ตามตนเองมองว่า หน้าที่ สว.เป็นผู้ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถค่อนข้างสูง ไม่ใช่ใครก็ได้ น่าที่จะต้องมีการคัดกรองตั้งแต่การศึกษา ความเชี่ยวชาญ 10 ปี ก็ต้องมีการเอกสาร หลักฐานยืนยันชัดเจน เพื่อให้ได้บุคคลเข้าไปทำหน้าที่ได้เหมาะสมกับตำแหน่ง และเป็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภาด้วยความโปร่งใสและเที่ยงธรรม ได้คนที่มีความรู้ความสามารถจริงไปทำหน้าที่

ด้านนายก้องเกียรติ พิมพศักดิ์ ผู้สมัคร สว.ตกรอบระดับจังหวัด จ.หนองคาย เปิดเผยว่า ตนเองให้ความสำคัญกับเอกสารการสมัคร คุณสมบัติเชี่ยวชาญ 10 ปี ถึงขนาดต้องกลับไปที่ทำงานเดิมเพื่อขอหนังสือรับรองมาประกอบสมัคร แต่กลับพบว่าเพื่อนผู้สมัครร่วมกลุ่ม ระบุอาชีพ จิตอาสาเก็บขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าการคัดกรองวิชาชีพไม่ชัดเจน และยังมีกลุ่ม 17 ระบุเป็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนจะดำรงวาระ 2 ปี และติดต่อกันไม่เกิน 2 ปี ตรงนี้เห็นชัดเจนว่าไม่ตรงคุณสมบัติ เชี่ยวชาญ 10 ปี หลายรายมีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่ตรงกลุ่ม หรืออาจลงผิดกลุ่ม จึงอยากให้ กกต.ได้ตรวจสอบความรู้ความเชี่ยวชาญ 10 ปี ของผู้สมัคร ซึ่งถึงแม้ว่าตนเองจะตกรอบ แต่ก็อยากได้บุคคลมีคุณภาพไปทำหน้าที่ สว.