จับชีพจร... แนวโน้มธุรกิจปุ๋ยเคมีไทย


ปี 2568 ภาพรวมยอดขายปุ๋ยเคมีของไทย คาดว่าอยู่ที่ 94,602 ล้านบาท หรือโต 2 เปอร์เซ็นต์ ชะลอจากปี 2567 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโต 7.7 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปัจจัยบวกที่แผ่วลงจากปี 67 เกิดจากความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีที่ชะลอ และราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศลดลง
คาดว่าราคาปุ๋ยเคมีไทยในปี 2568 ลดลง 3.4 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยหนุนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีไทยโต 5.7 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน ตามการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ หลังจากที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยขึ้น อย่างไรก็ดี คงได้รับแรงกดดันบางส่วนจากราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเติบโตลดลง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปุ๋ยเคมีของไทย เป็นธุรกิจการผลิตที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศทั้งหมด โดยเป็นการนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสำเร็จรูป จากนั้นนำมาบดผสมให้เข้ากันเป็นเมล็ดใหม่ ตามสูตรปุ๋ยเคมีแต่ละราย ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนธาตุอาหารที่พืชแต่ละชนิดต้องการและเติมสารเติมแต่งต่างๆ จนเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะใช้ในประเทศเป็นหลัก
ด้านภาวะการณ์แข่งขันตลาดปุ๋ยเคมี ค่อนข้างสูง เนื่องจากว่ามีผู้เล่นในตลาด 754 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นรายเล็ก ซึ่งจะแข่งขันได้ยาก เนื่องจากการผลิตปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ จึงเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลต่อสัดส่วนจำนวนผู้เล่นลดลงจาก 90.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 เป็น 89.5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566 และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเพียง 7 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ผู้เล่นรายกลางและรายใหญ่ จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และยังมีการจัดการส่งเสริมการขายต่อเนื่อง จึงสามารถจำหน่ายปุ๋ยเคมีได้ตลอดทั้งปี แม้จะมีสัดส่วนจำนวนผู้เล่นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับครองส่วนแบ่งการตลาดได้ 93 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี อัตรากำไรขั้นต้นธุรกิจปุ๋ยเคมีอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเฉลี่ยราว 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันรุนแรง และผู้ผลิตที่นำเข้าปุ๋ยเคมีต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการปกป้องความเสี่ยงค่าเงินผันผวนในบางช่วง นอกจากนี้ปุ๋ยเคมี เป็นสินค้าควบคุม ทำให้ราคาจำหน่ายในประเทศปรับขึ้นได้จำกัด
สำหรับปัจจัยสำคัญที่หนุนความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2568 นี้คือ การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ หลังจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยปีนี้คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรหลัก ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน (ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน) อาจจะมีพื้นที่รวมกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 122.3 ล้านไร่ ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น
รวมทั้ง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ยังหนุนผลิตเพิ่มขึ้นราว 2.3 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 2568 นี้ ทำให้เกษตรกรอาจลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเพื่อประหยัดต้นทุน ส่งผลต่อการใช้ปุ๋ยเคมีเติบโตไม่มากนัก
ปี 2568 ราคาปุ๋ยเคมีในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง 3-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุดิบ อย่างน้ำมันดิบ ที่คาดการณ์กันอีกต่อไป ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกลดลงราว 12 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีเป็นหลัก ทำให้ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีไทยในระยะกลางและระยะยาว คาดการณ์กันว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีคงโตจำกัด ขณะที่ราคายังเสี่ยงไม่แน่นอนตามตลาดโลก แม้ว่า จะมีความต้องการบริโภคพืชอาหารตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร แต่ประเทศผู้นำเข้าอาหารหลักได้หันมาผลิตอาหารเอง จะกดดันให้ปุ๋ยเคมีไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลักของโลก
ขอบคุณข้อมูล : ลัดดาวัลย์ เฉลิมแสนยากร นักวิจัยอาวุโส จากธนาคารกสิกรไทย