หลากหลายปัจจัยบวกดัน SMEs ชายแดนใต้เติบโต-ปัตตานีโดดเด่นมากสุด

หลากหลายปัจจัยบวกดัน SMEs ชายแดนใต้เติบโต-ปัตตานีโดดเด่นมากสุด





Image
ad1

เศรษฐกิจ การค้า  SMEs 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังไปได้ ปัจจัยซัพพอร์ตเพียบ รัฐบาล กลไกรัฐ แรงงานในและต่างประเทศ สิทธิพิเศษเต็มพิกัดดึงนักลงทุน เศรษฐกิจตัวเด่นอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน  ส่วนทุเรียน  ยางพารา อ่อนตัวแต่ไม่ส่งผลกระทบมากหนัก

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบส่งเสริมสินค้าการเกษตร จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประกอบการ กลุ่ม SMEs  ร้านค้า ค้าปลีก โชว์ห่วย ยังมีทิศทางไปได้ดีในระดับพื้นที่เพราะมีปัจจัยตัวหนุนที่สำคัญ คือการลงทุนภาครัฐ และกลไกของรัฐ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและโดยเฉพาะภาคเอกชนทั้งสายสามัญศาสนา ให้การสนับสนุนส่วนภาครัฐโดยมีนโนยบายส่งเสริมไปทุกส่วนทั้งสาขาอาชีพ และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ  ฯลฯ ที่อยู่ในพื้นที่หลายหมื่นคนทั้งประจำพื้นที่และสลับหมุนเวียน ซึ่งต่างที่มีกำลังซื้อที่ดี

แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกนั้นจะเป็นแรงงานจาก 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่เดินทางไปประกอบอาชีพและทำงานยังต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย และต่างจังหวัด เช่น อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา จ.สงขลา ชายแดนไทย มาเลเซีย รัฐเคาดาห์ ปะลิส ที่มีปริมาณมาก จึงเป็นแรงหนุนที่ดีได้ทอนเงินหมุนสะพัดกลับเข้าสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจากประเทศ เช่น มาเลเซีย เข้ามาท่องเที่ยวด้วยเป็นจำนวนมากตามเทศกาลสำคัญ

“นอกนั้นยังมีปัจจัยหนุนเรื่องการลงทุนภายในท้องถิ่น เรื่องภาษี เรื่องซอฟโลน ที่ช่วยสนับให้มีการลงทุนในท้องถิ่นเองขยายตัวเพิ่มขึ้น”

แหล่งข่าว รายเดิมยังกล่าวอีกว่า ส่วนความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นส่วนคนภาย ผู้ประกอบการ ประชาชนในท้องถิ่นไม่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ เป็นไปตามสภาพปกติ แต่การลงทุนจากภายนอกมีอุปสรรค

แหล่งข่าวจากสมาชิกหอการค้า จ.ยะลา ผู้ประกอบการการเกษตรยาง ปาล์มน้ำมันและทุเรียน เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โดดเด่นมีเศรษฐกิจ เช่น จ.ปัตตานี เดิมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมง ท่าเรือประมงรายใหญ่ของ จ.ภาคใต้  โรงงานแปรรูปอาหารทะเลส่งออก โดยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาเศรษฐกิจธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ส่วน จ.นราธิวาส เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวชายแดนไทย มาเลเซีย ระหว่างด่าน อ.สุไหงโกลก กับรัฐกลันตัน เปรัค และเคดาห์ นอกนั้นยังเป็นเศรษฐกิจการเกษตรยาง ปาล์มน้ำมัน และทุเรียนและ จ.ยะลา เศรษฐกิจธุรกิจการท่องเที่ยวการค้าชายแดนไทย มาเลเซีย พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ยางพารา และผลไม้ และแหล่งปลูกทุเรียนรายใหญ่ และทุเรียนชื่อเสียงมูซันคิง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการยางพารา จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภาวะเศรษฐกิจการค้า SMEs  ไซซ์ขนาดเล็กไปได้ดีโดยจะเป็นนักลงทุนท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแปรรูปอาหารเป็นหลัก
ส่วน SME ที่เป็นไซซ์ขนาดใหญ่และกลุ่มนักลงทุนจากภายนอก จะยังไม่เข้าไปลงทุน ปัจจัยเป็นเรื่องโลจิสติกส์ เรื่องความสงบเป็นสำคัญ

การลงทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีทิศทางที่ดี เพราะรัฐบาลมีมาตรการนโยบายสนับสนุนที่ต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีสิทธิพิเศษเรื่องของภาษี เรื่องของซอฟโลน การลงทุนจึงมีเพียงแต่นักลงทุนในท้องถิ่น นักลงทุนจากภายนอกก็ยังไม่สามารถจะดึงลงมาได้

“เศรษฐกิจที่เป็นหลักสำคัญ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าง จ.ปัตตานี อุตสาหกรรมประมง เรือประมง ท่าเรือปัตตานี ก็ถดถอยไปมากมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี เริ่มแรกจากมาตรการ IUU เรื่องร่องน้ำลึกท่าเรือที่เรือขนาดใหญ่มีไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้ กลุ่มเรือประมง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลต้องชะลอตัวและยุติไปแล้วราว 50 %”

แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า นอกนั้นเศรษฐกิจตัวหลักคืออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมยาง และทุเรียนรายและธุรกิจการค้าการท่องเที่ยวชายแดนไทย มาเลเซีย ตอนนี้ไม่แน่นอนสูงมาก เพราะส่วนหนึ่งจะขึ้นกับปัจจัยกลไกการตลาดและส่วนหนึ่งเรื่องการค้าการท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องของความสงบ

“สำหรับในพื้นที่ขณะนี้เรื่องของความไม่สงบที่มีเรตติ้งเพิ่มขึ้นมีผล แต่สำหรับในพื้นที่เป็นเรื่องปกติ ยกเว้นนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากภายนอก” แหล่งข่าว ระบุ 

แหล่งข่าวจากอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเสริมต่อว่า ประการสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดกำลังซื้อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกำลังซื้อที่ดีจากภาครัฐ จากการลงทุนพัฒนาของรัฐ บุคลากรของรัฐที่ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ และอีกส่วนมากหลายหมื่นคนที่เข้าไปคอยดูแลเรื่องของความสงบ

“เป็นส่วนที่ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ดี เพราะมีกำลังซื้อที่ดี  ส่งผลต่อเศรษฐกิจการต่อภาพรวม”  แหล่งข่าว ระบุ

นายกร สุริยะพันธุ์ ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทยกลุ่มภาคใต้ชายแดน (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจธุรกิจการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะเป็นเศรษฐกิจการค้าหมุนสะพัดภายใน

“จะไม่อิงอยู่กับการส่งออกและการท่องเที่ยวหรือจะอิงแต่ก็ค่อนข้างจะเป็นส่วนน้อย อีกทั้งธุรกิจเรื่องการค้าเรื่องการตลาดการแข่งกันก็แทบจะไม่มี โดยเฉพาะกลุ่ม SME เมื่อมีโปรดักซ์ของท้องถิ่นเองก็ไปได้”

นายกร กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายตัวของการลงทุนนั้นก็จะต้องมีปัจจัยหนุนขึ้นอยู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของประชากรและการท่องเที่ยว และการลงทุนก็จะเป็นนักลงทุนท้องถิ่นกันเองส่วนในประเด็นกำลังซื้อก็ได้ทั้งจากบุคลากรภาครัฐ อีกทั้งแรงงานใน 3 จังหวัดที่ได้ออกไปทำงานต่างจังหวัด

ด้านนายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดชายแดน  (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)  และประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาพรวมแล้วยังจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลเรื่องของการลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ 

“ในปี 2568 เศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ามีปัจจัยหนุนเรื่องราคายางที่อยู่ในเกณฑ์ดี  และยังมีเทศกาลสำคัญที่สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจได้ เช่น เทศกาลฮารีรายอ และการการท่องเที่ยวภายใน  3 จังหวัด  ยังมีความนิยมการท่องเที่ยวภายในและรับประทานอาหารนอกบ้านด้วย”

นายณัฐนนท์  กล่าวอีกว่า อย่าง จ.ปัตตานี ธุรกิจการค้าที่เด่น ๆ คือการประมง  แต่การประมงซบเซาด้วยหลายปัจจัย ทางจังหวัดและภาคเอกชนจึงหันมาสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว.