BEDO ขยายผลองค์ความรู้การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร มุ่งสู่สังคมการทำเกษตรยั่งยืนด้วยแมลงโปรตีน BSF

BEDO ขยายผลองค์ความรู้การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร มุ่งสู่สังคมการทำเกษตรยั่งยืนด้วยแมลงโปรตีน BSF





ad1

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จัดประชุมเสวนา “ปรับ เปลี่ยน สู่สังคมเกษตรยั่งยืนด้วยแมลงโปรตีน BSF” ภายใต้โครงการการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีน (Hermetia illucens L.) สำหรับอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ณ ห้อง Grand Hall 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

ภายในงานประชุมเสวนาฯ ได้รับเกียรติจาก นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาส เกษตรคาร์บอนต่ำ สู่ความยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” และ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายที่ดินกับการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ของเกษตรกร” และ การอภิปรายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การขยายผลและการประโยชน์แมลงโปรตีน BSF โดย ตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้แทนหน่วยงาน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการฯ ดำเนินการอภิปรายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง และ ดร.นภศูล ศิริจันทร์ และเวทีเสวนา เรื่อง “การขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ระดับนโยบาย” โดยมีตัวแทนนักวิจัยโครงการ ตัวแทนภาคธุรกิจ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเสวนาและนำเสนอประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดำเนินรายการโดย นางสาวณัฐฐิญา กงภูธร ผอ.สำนักพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) 

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สพภ. กล่าวว่า ภายใต้สภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาล ทำให้ภาคีระหว่างประเทศมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ทั้งการตั้งเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร การหาแนวทางจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศ แนวทางหนึ่งในความพยายามในการแก้ไขปัญหาคือ แก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution ย่อว่า NbS) มาใช้ในการบริหาร จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการจัดการกับความท้าทายด้านสังคม (Societal Challenges) อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ และดำรงรักษาประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ

นางสุวรรณา กล่าวต่อว่าแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly) ช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนสัตว์ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร แมลงโปรตีนสามารถย่อยสลายซากอินทรีย์ได้ในระยะอันสั้น ส่งผลให้เกิดแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก และลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ได้อย่างมหาศาล แต่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีน BSF อย่างจริง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิจัย ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน พร้อมขับเคลื่อนองค์ความรู้การใช้ประโยชน์กระจายสู่เกษตรกรผ่านเครือข่ายสถาบันการศึกษาท้องถิ่นกว่า 11 แห่งทั่วประเทศ

นางสุวรรณา กล่าวอีกว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งขยายผลการนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยไปขยายผลในระดับชุมชนเพื่อการพัฒนาและยกระดับการผลิตแมลงโปรตีนซึ่งเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจ BCG และทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ในระดับชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแมลงโปรตีน BSF และถ่ายทอดวิธีการที่ถูกต้องสำหรับการผลิตและใช้ประโยชน์แมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์แก่เกษตรกรและชุมชน และพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้แก่เกษตรกร โดยโครงการฯ ได้สร้างวิทยากรตัวคูณได้ 52 คน จากมหาวิทยาลัยท้องถิ่น 11 แห่ง ขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจรวม 713 คน จากพื้นที่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วยลดต้นทุนการทำเกษตรให้เกษตรกรได้ร้อยละ 30 – 50 และช่วยหมุนเวียนนำเศษอาหาร เศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตเกษตร หรือขยะอินทรีย์ (Organic Waste) กลับมาใช้เลี้ยงหนอนแมลงโปรตีนจำนวนกว่า 670 ตัน

“เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF อยู่จำนวนมาก รวมทั้งยังจำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรโดยตรงในการขับเคลื่อนการขยายผลการใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนระดับฐานราก เตรียมความพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture System) ตามปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) คาดหวังว่าการประชุมเสวนาในครั้งนี้จะสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างและสามารถขยายผลการแก้ปัญหาราคาค่าอาหารสัตว์แพงให้กับเกษตรกร และช่วยลดจำนวนขยะอินทรีย์ในชุมชนตั้งแต่ต้นทางได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการ สพภ. กล่าวย้ำ