นายกทน.ห้วยนางร้องปศุสัตว์แจ้งผลหมูล้มตายลาม13ฟาร์ม2อำเภ

นายกทน.ห้วยนางร้องปศุสัตว์แจ้งผลหมูล้มตายลาม13ฟาร์ม2อำเภ





ad1

ตรัง-นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง เรียกร้องปศุสัตว์แจ้งผลตรวจ หมูล้มตายจำนวนมาก  เชื้อลาม 13 ฟาร์ม 2 อำเภอ แต่กลับปกปิดข้อมูลไม่บอกสาเหตุ 

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 นายภานุวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง ได้รับมอบหมายจาก นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด โดยมี นายพรชัย สุวรรณอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง และนางพรพรรณ แก้วทอง อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่3 ตำบลห้วยนาง พาเข้าพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด 4 ฟาร์ม

ส่วนใหญ่ได้พบกับเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และบางฟาร์มไม่พบ ซึ่งทั้ง 4 ฟาร์ม ประกอบด้วย ฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงด้วยทุนเอง และฟาร์มใหญ่เลี้ยงขายส่งบริษัท โดยมีฟาร์มที่พบระบาดรายแรก ได้แจ้งการตายของหมูไปยังปศุสัตว์ ส่วนที่เหลือไม่ได้แจ้ง ซึ่งทางเทศบาลยืนยันมีการขออนุญาตจัดตั้งฟาร์มถูกต้องทุกแห่ง

ทั้งนี้ นายภานุวัฒน์ ได้สอบถามข้อมูลต่าง ๆ ตามที่ได้รับข้อมูลเบื้องต้นมาจากปศุสัตว์จังหวัด เช่น ที่มาของลูกหมูที่นำมาเลี้ยงว่า เกษตรกรแต่ละรายนำมาจากแหล่งใด มีใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือไม่ และนำลูกหมูที่มีเชื้อเข้ามาเลี้ยงจนทำให้เกิดการระบาดหรือไม่ เพราะจะมีความผิดเท่ากับลักลอบเลี้ยง และถามเหตุผลว่าบางรายทำไมจะไม่รับเงินชดเชย พร้อมให้เกษตรกรรายหนึ่งนำไปดูร่องรอยการฝังว่าใหม่หรือเก่า จนทำให้จังหวัดเสียหาย

จากการลงพื้นที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรังในครั้งนี้ เกษตรกร และนายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง เกิดความไม่พอใจ และยุติการนำตรวจสอบฟาร์มอื่น ๆ ที่เหลือในตำบลห้วยนาง และอำเภอรัษฎา ในทันที โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ดำรงธรรมบอกว่า จะมาตรวจสอบเรื่องการเกิดโรคระบาด แต่พอลงพื้นที่จริงกลับพุ่งเป้าตรวจสอบเฉพาะเกษตรกร และไม่ค่อยให้ความสนใจในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการควบคุมป้องกันโรค

แต่มุ่งจะเอาผิดเกษตรกรที่ซื้อลูกหมูจากอำเภอข้างเคียงมาเลี้ยงโดยไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายหมู หรือจะเอาผิดคนไม่แจ้งว่าหมูตาย และจะเอาผิดเกษตรกรที่เร่งระบายหมูขายให้พ่อค้าในจังหวัดนครปฐมว่า เป็นการทำความผิดตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนแสนสาหัส ทุกคนเป็นหนี้ บ้านที่ดินจำนอง จนบางคนล้มป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว

โดยเกษตรกร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยนาง ยืนยันว่า การเกิดโรคระบาดในหมู ในพื้นที่ตำบลห้วยนาง เกิดขึ้นรายแรกในเดือนกันยายน 2564 ในฟาร์มของ นายโกสิทธิ์ อายุ 54 ปี โดยมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้เข้ามาตรวจสอบ และมีการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจสอบ ซึ่งระบุเบื้องต้นกับเกษตรกรว่า หมูเป็นโรคระบาด สั่งให้เร่งฝังทำลายทั้งหมดในทันที พร้อมมายืนกำกับควบคุมการฝัง รวมประมาณ 100 ตัว ทั้งแม่พันธุ์ และสุกรขุน

แต่จนถึงขณะนี้ทางปศุสัตว์ยังไม่ได้แจ้งผลว่า หมูเกิดโรคระบาดอะไร และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เช่น ไม่มีการออกคำสั่งประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาดในหมู ไม่มีคำสั่งประกาศควบคุมพื้นที่ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ไม่มีการออกประกาศแจ้งเตือนเกษตรกรรายอื่น ๆ ให้ป้องกัน จนทำให้โรคระบาดลามไปทั้งหมด 13 ฟาร์ม ของตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด หมูตายไปประมาณ 3,500 ตัว

โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลห้วยนาง พบหมู 3 ตัวสุดท้ายตายและถูกฝังลง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา นอกจากนั้นในห้วงระยะเวลาประมาณเดือนกันยายน-ธันวาคม เชื้อยังได้ลุกลามไปติดฟาร์มหมูในพื้นที่อำเภอรัษฎาอีกหลายฟาร์ม รวมทั้งหมูพื้นบ้านที่เกษตรกรเลี้ยงปล่อยทุ่งในพื้นที่ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด อีกจำนวนมาก

ขณะเดียวกันมีเกษตรกรบางรายเก็บตัวอย่างเลือดหมูส่งไปตรวจพิสูจน์หาสายพันธุ์ของเชื้อที่ห้องแล็ปเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ผลปรากฏว่าโรคระบาดในหมูของฟาร์มแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลห้วยนาง ติดเชื้อ ASF และเชื่อว่าฟาร์มอื่นๆก็คงเป็นโรคชนิดเดียวกัน ขณะที่ปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นในจังหวัดตรังมานานมาก แม้กระทั่งก่อนสิ้นปี 2564 ก็ตาม

ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง จึงได้เรียกร้องผ่านทาง ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม และตั้งคำถาม รวม 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ขอให้เปิดเผยผลตรวจเลือดหมูที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าไปเก็บตัวอย่างว่า เป็นโรคระบาดอะไร เพื่อตนจะได้แจ้งชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป เพราะที่เกษตรกรเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจเองพบเป็นเชื้อ ASF

2.การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าข่ายละเว้นหรือไม่ ในการกำกับ ป้องกัน และควบคุมโรค เพราะหลังรับแจ้งการเกิดโรคระบาดในฟาร์มแรก แม้จะเข้ามาตรวจสอบ แต่กลับเงียบไม่ดำเนินการใดๆ จนโรคระบาดลุกลามไปสู่ฟาร์มอื่นๆ

3.ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่ระบาดไปสู่จังหวัดนครปฐม ซึ่งใครเป็นคนออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย และไม่มีการควบคุมพื้นที่ตั้งแต่ต้น และ 4.ขอให้เร่งเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และหากทางจังหวัดมุ่งแต่จะเอาผิดเกษตรกรรายย่อย ซึ่งทั้งหมดสิ้นเนื้อประดาตัว สูญเงินไปรายละ 5 แสน ถึง 6 ล้านบาท ก็พร้อมจะเดินทางเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อชี้แจงเรื่องทั้งหมดด้วยตนเอง