ครูภูมิปัญญานาฏศิลป์ น่าน - สุโขทัย จับมือยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ร่วมออกแบบการแสดงเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงสองเมือง

ครูภูมิปัญญานาฏศิลป์ น่าน - สุโขทัย   จับมือยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ร่วมออกแบบการแสดงเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงสองเมือง





ad1

ครูภูมิปัญญานาฏศิลป์ น่าน - สุโขทัย   จับมือยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ร่วมออกแบบการแสดงเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงสองเมือง  ขับเคลื่อนน่านเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในปี 2566

“สมัยพญาครานเมือง (พระยาการเมือง) บุตรพญาผานอง วรนครขยายตัวมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่าน ระบุว่า พญาครานเมืองได้รับเชิญจากพระมหาธรรมราชาลิไทไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัยพระราชทานพระธาตุ 7 องค์  พระพิมพ์ทอง 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาครานเมืองมาบูชา ณ วรนครหรือเมืองปัว  พญาครานเมืองได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาล จึงได้นำพระธาตุและพระพิมพ์ที่ได้มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่ภูเพียงแช่แห้ง เรียกว่า “พระธาตุแช่แห้ง” และในปี พ.ศ.1902 พญาครานเมืองจึงได้อพยพผู้คนพลเมืองและย้ายศูนย์กลางการปกครองจากเมืองปัวมาสร้างเมืองที่เวียงภูเพียงแช่แห้ง”  จากหนังสือ "นครน่าน พัฒนาการแห่งนครรัฐ"

ความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นของเมืองสุโขทัย ซึ่งถือเป็นเมืองเครื่องทอง และเมืองน่านที่เป็นเมืองเครืองเงิน  มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ครั้งสร้างเมือง เรื่องราวตามพงศาวดารนี้ได้ถูกนำมาออกแบบเพื่อถ่ายทอดผ่านการแสดงนาฏศิลป์ โดยกลุ่มศิลปินและครูภูมิปัญญานาฏศิลป์ของจังหวัดสุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ปี 2562 และเมืองน่าน ที่กำลังเตรียมความพร้อมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สาขาเดียวกัน ในปี 2566 ถือเป็นความร่วมมือของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน

อาจารย์นาฏศิลป์จากโรงเรียนจิตรดา กลุ่มนาฏยศิลป์สุโขทัย และครูภูมิปัญญานาฏศิลป์จังหวัดน่าน ได้ร่วมกันออกแบบท่วงท่าการฟ้อนรำประกอบดนตรีพื้นบ้าน  การทำท่าทางฟ้อนจากของสุโขทัย ผสมผสานลีลาท่วงท่าแบบของชาวน่าน  โดยหยิบยกเนื้อหาตามพงศาวดารระหว่างเมืองสุโขทัยและเมืองน่าน มาเป็นเรื่องราวสำคัญเพื่อถ่ายทอดผ่านการแสดง กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมบรรยากาศเมืองสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม ระหว่างสองเมืองเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้วย

นางศุภรดา กานดิศยากุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  กล่าวว่า  เป็นความร่วมมือจากอาจารย์นาฏศิลป์จากโรงเรียนจิตรดา กลุ่มนาฏยศิลป์สุโขทัย ครูภูมิปัญญานาฏศิลป์จากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดน่าน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน  โดยจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เมื่อช่วงวันที่ 20 - 21 พฤษภาคม 2566 ณ แหล่งเรียนรู้โฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ให้แก่ศิลปินและครูภูมิปัญญานาฏศิลป์ เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่านเชิงสร้างสรรค์ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ

ด้านดนตรีพื้นบ้านระหว่างเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจากเมืองสร้างสรรค์สุโขทัย และเมืองน่านที่กำลังเตรียมความพร้อมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในปี 2566  โดยผลจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เมืองน่านและเมืองสุโขทัยซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จะได้ชุดการแสดงใหม่ๆ ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมระหว่างเมือง สามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่ เด็กนักเรียน เยาวชน หรือผู้ที่สนใจ สามารถนำไปฝึกซ้อมการแสดง เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาด้านดนตรีพื้นบ้าน ศิลปะพื้นบ้าน ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าตามแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกต่อไป