ไทยนำเข้าปลาแช่แข็งเพิ่มขึ้น 250% จากแหล่งผลิตหมู...เรื่องจริงหรือสำแดงเท็จ?

ไทยนำเข้าปลาแช่แข็งเพิ่มขึ้น 250% จากแหล่งผลิตหมู...เรื่องจริงหรือสำแดงเท็จ?





ad1

สถิตินำเข้าปลาแช่แข็งที่ผ่านการกระบวนการทางศุลกากรเข้ามาประเทศไทยในปี 2565 เทียบกับปี 2564 พบว่ามีมูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เอาแค่สินค้าที่สำแดงว่าเป็นปลาแช่แข็ง ซึ่งอยู่ภายใต้รหัสสินค้า HS Code 0303 ทั้งหมดที่นำเข้ามายังประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 16,606,386,533 บาท หรือกว่า 1.66 หมื่นล้านบาท  หากประเมินราคาปลาตามเกณฑ์ประเมินของกรมศุลกากรที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม จะคำนวณได้ว่า ปริมาณปลาแช่แข็งที่นำเข้ามามีมากถึง 332,127,370 กิโลกรัมหรือ 332,127 ตัน และปกติในหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์จะบรรจุอาหารแช่แข็งได้ราว 30 ตัน หมายความว่าในปี 2565 มีการนำเข้าสินค้าอาหารที่สำแดงว่าเป็นปลาแช่แข็ง เพิ่มขึ้นจากปกติถึง 11,070 ตู้คอนเทนเนอร์  

แน่ใจได้อย่างไรว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่มาถึงไทยในตลอดปี 2565 นั้นบรรจุ “ปลาแช่แข็ง” ตามที่สำแดงจริงๆ 

มีคำถามว่าตัวเลขนำเข้าสูงขึ้นขนาดนี้ แสดงว่าในปีที่แล้วประเทศไทยต้องขาดแคลนเนื้อปลาอย่างหนัก ระดับราคาเนื้อปลาในประเทศต้องสูงมากผิดปกติจนถึงกับต้องเพิ่มการนำเข้าปลาแช่แข็งจำนวนมาก แต่กลับไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นเลยแม้แต่น้อย และที่น่าแปลกก็คือปลานำเข้ามาจากแหล่งผลิตหมูของโลก อย่างบราซิล ฝรั่งเศส และสเปน เพิ่มขึ้นถึง 250%  ที่สำคัญ หมูเถื่อนแช่แข็งที่รัฐจับกุมได้ก็มีแหล่งที่มาจากประเทศเหล่านี้ เป็นหลักเช่นกัน

ตัวเลขการจับกุมครั้งใหญ่ในตู้ตกค้าง 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง พบจำนวนหมูเถื่อนถึง 4.5 ล้านกิโลกรัม หรือ 4,500 ตัน ทั้งยังเป็นตู้ที่ตกค้างในพื้นที่แหลมฉบังมานานกว่า 7-8 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นหมูเถื่อนจากบราซิล ทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่า “ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนสำแดงเท็จว่าสินค้าในตู้เป็นปลาแช่แข็ง ส่งผลให้ตัวเลขยอดนำเข้าปลาสูงผิดปกติ” ก็ดูจะไม่เกินจริง  

คงต้องทบทวนการทำหน้าที่ของกรมศุลกากรเหมือนกัน การถูกเจ้าของสินค้าหรือชิปปิ้งหลอกด้วยวิธีสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่น แล้วรอดการตรวจสอบจับกุมไปได้ เหมือนถูกหยาม เรื่องแบบนี้มันฟ้องด้วยข้อเท็จจริงที่ “ขบวนการหมูเถื่อนเฟื่องฟู” กระจายขายของผิดกฎหมายทำลายเกษตรกรไทยและทำร้ายผู้บริโภคคนไทยได้ทั่วประเทศมานานนับปี   

เชื่อว่าหลังจากนี้ กรมศุลกากรจะพัฒนาปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบตู้เย็นตกค้างให้รัดกุม อย่าให้ถูกเหล่ามิจฉาชีพหลอกเอาได้อีก สิ่งที่อยากเห็นคือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และควรดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ทิ้งค้างตู้ไว้ 7-8 เดือนตามข่าว  หรือแม้แต่การจับกุมหมูเถื่อนในตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ ที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานของกรมศุลฯ แล้ว ก็อย่าให้เกิดคำถามตามมาว่า จนป่านนี้ยังไม่มีการส่งมอบ “หมูเถื่อน” เหล่านั้นให้ “กรมปศุสัตว์” นำไปฝังทำลาย แต่เสียบปลั๊กตู้เย็นกินไฟไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาสภาพของหมูผิดกฎหมายเอาไว้ ซึ่งไม่ทราบว่าทำบนเหตุผลใดและจะยื้อไปอีกนานแค่ไหน ทั้งๆที่หากทำการส่งมอบของกลาง กรมปศุสัตว์จะสามารถดำเนินคดีฟ้องร้องกับเจ้าของตู้/ผู้นำเข้าทั้งหมดได้ทันที 

ว่าแต่ว่า... ตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นอีกกว่า 100 ตู้ที่ตกค้าง ณ ท่าเรือฮัทชิสัน  (D1) ... เมื่อไหร่จะเปิดตรวจสอบ ... หรือมันสำแดงเป็น “ปลาแช่แข็ง” รหัสสินค้า HS Code 0303 เข้ามาอีกแล้วครับ?  

โดย...สมคิด เรืองณรงค์